แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยื่นข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 13 อาจเป็นการขอให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเดิมไม่มีอยู่หรือขอให้ยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีและใช้บังคับอยู่เสียหรืออาจเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างคือเพิ่มหรือลดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นก็ได้
สหภาพแรงงานโจทก์ได้รับข้อเรียกร้องของบริษัทจำเลยแล้วจะต้องแจ้งชื่อโจทก์หรือผู้แทนเป็นหนังสือให้จำเลยโดยมิชักช้าและจะต้องเริ่มเจรจากันภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 16 แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว จนจำเลยแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทโจทก์ก็ยังคงไม่ยอมเข้าเจรจาด้วยจำเลยจึงมีสิทธิปิดงานได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อโจทก์รวม 3 ข้อ แต่โจทก์ไม่มีอำนาจเจรจาข้อเรียกร้องของจำเลยได้ทันที เพราะโจทก์ยังมิได้มติจากที่ประชุมใหญ่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 103(2) ได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อจำเลยและแรงงานจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ระหว่างจะขอมติจากสมาชิกจำเลยได้ปิดงานโดยไม่ชอบ จำเลยกลั่นแกล้งแจ้งข้อเรียกร้องต่อโจทก์ จำเลยควรแจ้งแก่ลูกจ้างทั้งหมด การแจ้งข้อเรียกร้องของจำเลยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการปิดงาน ให้รับสมาชิกของโจทก์กลับเข้าทำงาน และใช้ค่าเสียหายกับขอให้ยกเลิกข้อเรียกร้องของจำเลยเสีย
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่มีมติที่ประชุมใหญ่จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่ยอมแต่งตั้งผู้แทนเข้าเจรจากับจำเลยภายใน 3 วัน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 16 จำเลยจึงแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาท โจทก์ไม่ไปเจรจาตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทนัดหมาย จำเลยจึงแจ้งปิดงาน ซึ่งกระทำไปโดยชอบขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การแจ้งข้อเรียกร้องและการปิดงานของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ โจทก์แจ้งแก่จำเลยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเจรจาเพราะต้องประชุมใหญ่เพื่อขอมติจากสมาชิก จึงไม่ได้มีการเจรจากันเมื่อพ้นกำหนด 3 วัน จำเลยแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทและนัดเจรจากันต่อไป เมื่อถึงกำหนดนัด โจทก์อ้างว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจเจรจาได้เพราะยังไม่ได้ขอมติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 บัญญัติให้นายจ้างหรือลูกจ้างต่างมีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และข้อเรียกร้องนี้อาจเป็นการขอให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งหมายความว่า ขอให้กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เดิมไม่มีอยู่หรือขอให้ยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีและใช้บังคับอยู่นั้นเสียโดยขอให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ หรืออาจเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งหมายความว่ามีสิทธิขอให้เพิ่มหรือลดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นได้ด้วย กรณีจึงมิใช่มีความหมายว่าจำเลยไม่มีสิทธิยื่นข้อเรียกร้องเพื่อยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทั้งหมด หรือข้อเรียกร้องของจำเลยขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับข้อเรียกร้องของจำเลยแล้ว โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 16 คือแจ้งชื่อโจทก์หรือผู้แทนเป็นหนังสือให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องโดยมิชักช้า และโจทก์จำเลยจะต้องเริ่มเจรจากันภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้องนั้น แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของบทบัญญัติดังกล่าว จนกระทั่งจำเลยแจ้งข้อพิพาทแรงงานนี้ต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการเพื่อดำเนินการโจทก์ก็ยังคงไม่ยอมเข้าเจรจาด้วย จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยชอบแล้วและมีสิทธิปิดงานได้
พิพากษายืน