คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ในจำนวนเงินที่เป็นหนี้ในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ทุกๆ 3 เดือน นับแต่วันทำหนังสือสัญญานี้เป็นต้น ไปสำหรับต้นเงินกู้นั้นจะผ่อนชำระให้ธนาคารโจทก์เป็นงวด ๆ โดยชำระ 3 เดือนต่อครั้ง ตามตารางชำระเงินต้นแนบท้ายสัญญากู้ หากผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าว ผู้กู้ย่อมเสียเบี้ยปรับให้แก่ธนาคารโจทก์อีกในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ในจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่คงค้างทั้งหมดนับแต่วันละเมิดสัญญาจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น ดังนี้เห็นได้ว่าสัญญากู้รายนี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ร้อยละ 9 ต่อปีอยู่แล้ว การที่ได้กำหนดเบี้ยปรับในกรณีผู้กู้ผิดนัดไว้ว่า ให้ผู้กู้เสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 6 ของจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดรวมกัน ย่อมเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน สมควรลดลงเป็นให้เสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 6 รวมเป็นร้อยละ 15 ต่อปีโดยไม่ทบต้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จำเลยที่ 3 ผู้เดียวอุทธรณ์ฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนและลดให้ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาก็ย่อมได้รับผลอันเป็นคุณจากข้อวินิจฉัยส่วนนี้ด้วย เพราะมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เบี้ยปรับและค่าวิเคราะห์โครงการรวมเป็นเงิน ๖๓๕,๙๕๐.๘๘ บาท และเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อีก ๑๔๖,๐๙๘.๓๑ บาท รวมหนี้ ๒ ประเภทเป็นเงิน ๗๘๑,๗๔๙.๑๙ บาท ปรากฏหลักฐานตามเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวไว้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ยังได้นำที่ดินมาจำนองไว้เป็นประกันหนี้อีกด้วย โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามบังคับจำนองแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองตามจำนวนข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
จำเลยทั้งหมดให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง ๗๘๑,๗๔๙.๑๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๙ ต่อปีในต้นเงิน ๔๙๐,๐๐๐ บาท และเบี้ยปรับอีกร้อยละ ๖ ต่อปีในต้นเงิน ๕๘๕,๐๕๖.๑๗ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีในต้นเงิน ๑๔๖,๐๓๙.๕๙ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ค้ำประกันเฉพาะหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น มิได้ค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเฉพาะหนี้เงินกู้จำนวนเงิน ๖๓๕,๙๕๐.๔๘ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๙ ต่อปีในต้นเงิน ๔๙๐,๐๐๐ บาท และเบี้ยปรับอีกร้อยละ ๖ ต่อปีในต้นเงิน ๕๘๕,๐๕๖.๑๗ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจะยึดทรัพย์จำนองหรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๓ ขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ก็ให้บังคับเอาชำระหนี้เพียงจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.๕ มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๙ ต่อปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๖ ต่อปีของต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยช้อนดอกนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนังสือสัญญากู้รายพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๕ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๕ นั้นมีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ในสัญญาดังนี้
“ข้อ ๒. ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในจำนวนเงินที่เป็นหนี้ในอัตราร้อยละ ๙ ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารทุก ๆ ๓ เดือน นับแต่วันทำหนังสือสัญญานี้เป็นต้นไป
ข้อ ๓. สำหรับต้นเงินกู้นั้น ผู้กู้ให้สัญญาว่าจะนำต้นเงินกู้ผ่อนชำระให้ธนาคารเป็นงวด ๆ โดยจะผ่อนชำระ ๓ เดือนต่อครั้ง นับแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๖ ตามตารางชำระเงินต้นแนบท้ายสัญญานี้
ข้อ ๔. ในกรณีที่ผู้กู้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ในข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ต่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แม้สัญญาจะยังไม่ถึงกำหนดก็ตาม ให้ถือว่าผิดสัญญาผู้กู้ยอมให้ธนาคารเลิกสัญญาและบังคับชำระหนี้ที่ค้างได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวทวงถาม
ข้อ ๕. หากผู้กู้ผิดนัด ไม่ส่งชำระต้นเงินและดอกเบี้ยงวดที่กล่าวมาในข้อ ๒ และข้อ ๓ โดยมิได้เกิดจากกรณีที่เกี่ยวกับเหตุสุดวิสัยผู้กู้ในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสัญญายอมเสียเบี้ยปรับให้แก่ธนาคารอีกในอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี ในจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่คงค้างทั้งหมดนับแต่วันละเมิดสัญญาจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น”
จากข้อสัญญาดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่า สัญญากู้รายนี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ร้อยละ ๙ ต่อปีตามสัญญาข้อ ๒ อยู่แล้ว การที่สัญญาข้อ ๕ กำหนดเบี้ยปรับในกรณีผู้กู้ผิดนัดไว้ว่า ให้ผู้กู้เสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ ๖ ของจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดรวมกันย่อมเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน สมควรลดลงเป็นให้เสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ ๖ รวมเป็นร้อยละ ๑๕ ต่อปีโดยไม่ทบต้นธนาคารโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้รายนี้ได้เพียงต้นเงิน ๔๙๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีในต้นเงิน ๔๙๐,๐๐๐ บาท ซึ่งค้างชำระนับแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมกับค่าวิเคราะห์โครงการอีก ๑,๕๐๐ บาท เท่านั้น จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และเป็นผู้จำนองด้วย ย่อมรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ฟังขึ้นบางส่วน แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาก็ย่อมให้รับผลอันเป็นคุณจากข้อวินิจฉัยส่วนนี้ด้วย เพราะมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองในหนี้เงินกู้จำนวนเงิน ๔๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าวิเคราะห์โครงการอีก ๑,๕๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share