คำสั่งคำร้องที่ 1585/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษของจำเลยที่ 2 อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ 2ทุกข้อเป็นการฎีกาคัดค้านดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เห็นว่า ฎีกาที่ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และไม่ถือว่าเป็นการ ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจ ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานผู้สนับสนุนได้เพราะคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง ของโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานผู้สนับสนุน การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานผู้สนับสนุน จึงเป็นการ พิพากษาเกินคำขอ ล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว ส่วนโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าได้รับสำเนาคำร้อง (อันดับ 159)
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายพิชัย คุณวงศ์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุกคนละ 5 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 158)
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 159)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่เป็นฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ส่วนฎีกาในข้อที่ว่าตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลจึงไม่มีอำนาจลงโทษ จำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เพราะเป็น การพิพากษาเกินคำขอนั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาล มีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่ควรได้รับ การวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share