คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเพียงแต่หลอกลวงผู้เสียหายว่า จำเลยจะช่วยติดต่อให้ผู้เสียหายเข้าทำงานเป็นสารวัตรทหารได้โดยไม่ต้องสอบเท่านั้นผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลยไป ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้ข้าราชการทหารคนใดกระทำการอย่างใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายใช้ให้ผู้ใดกระทำผิดกฎหมาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ได้ ผู้เสียหายและจำเลยได้ทำบันทึกกันไว้ว่า ถ้าจำเลยนำเงินมาคืนผู้เสียหายภายในกำหนด ผู้เสียหายก็จะไม่เอาเรื่องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา มิใช่เป็นการยอมความโดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นการยอมความโดยมีเงื่อนไข การยอมความในลักษณะเช่นนี้จะมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปต่อเมื่อจำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,58 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหายนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 536/2532ของศาลจังหวัดลำปาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน40,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 536/2532 ของศาลจังหวัดลำปาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า นายวรรณชัย สมจันทร์ตา ผู้เสียหายเป็นศิษย์ของจำเลยในสมัยที่ผู้เสียหายศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดลำปาง ผู้เสียหายประสงค์จะเป็นสารวัตรทหาร กองกำลังพลมณฑลทหารบกที่ 7 จังหวัดลำปาง จึงไปพบจำเลย จำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยจะช่วยติดต่อให้ โดยผู้เสียหายจะต้องเสียเงิน 40,000 บาท แล้วเข้าทำงานเป็นสารวัตรทหารได้โดยไม่ต้องสอบ ผู้เสียหายหลงเชื่อเพราะจำเลยเคยเป็นอาจารย์ของผู้เสียหายมาก่อน จึงนำเงิน 40,000 บาทไปซื้อเช็คของขวัญฉบับละ 5,000 บาท รวม 8 ฉบับ จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาลำปาง นำไปมอบให้จำเลยในวันที่ 12ธันวาคม 2532 ต่อมาผู้เสียหายสอบเป็นสารวัตรทหารไม่ได้ จึงติดต่อจำเลยเพื่อขอเงินคืนแต่จำเลยไม่คืนเงินให้ ก่อนแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยผู้เสียหายได้พาจำเลยไปพูดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้คืนเงิน ได้มีการบันทึกปากคำจำเลยไว้ว่าจำเลยจะนำเงินมาคืนให้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533 ถ้าจำเลยนำเงินมาคืนให้ผู้เสียหายก็จะไม่เอาเรื่องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ได้มีการลงชื่อไว้ทั้งสามคน จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายสองประการ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า นายวรรณชัยเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ในคดีนี้หรือไม่เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเพียงแต่หลอกลวงนายวรรณชัยว่าจำเลยจะช่วยติดต่อให้นายวรรณชัยเข้าทำงานเป็นสารวัตรทหารได้โดยไม่ต้องสอบเท่านั้น นายวรรณชัยหลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลยไป ไม่ปรากฏว่านายวรรณชัยให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้ข้าราชการทหารคนใดกระทำการอย่างใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายใช้ให้ผู้ใดกระทำผิดกฎหมาย นายวรรณชัยจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีนี้ระงับไปเพราะการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายและจำเลยได้ทำบันทึกกันไว้เป็นใจความว่า ถ้าจำเลยนำเงินมาคืนผู้เสียหายภายในกำหนดผู้เสียหายก็จะไม่เอาเรื่องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จึงมิใช่เป็นการยอมความกันโดยผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยโดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นการยอมความโดยมีเงื่อนไขที่ให้จำเลยชำระเงินคืนผู้เสียหายเสียก่อน ผู้เสียหายจึงจะไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย การยอมความในลักษณะเช่นนี้จะมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปต่อเมื่อจำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้วแต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมิได้ชำระเงินคืนแก่ผู้เสียหายจึงมิใช่เป็นการยอมความที่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปดังจำเลยฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share