แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยแล้วปลูกตึกแถวจำนวน 2 แถว โดยขอให้จำเลยเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินแปลงที่อยู่ด้านหน้าไปยังที่ดินแปลงที่อยู่ด้านหลัง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในตึกแถวด้านหลังมีไฟฟ้าใช้การที่เจ้าของเดิมขายที่ดินที่แบ่งแยกพร้อมตึกแถวด้านหลังซึ่งมีไฟฟ้าใช้แล้วให้แก่ผู้อื่นไปโดยราคาที่ตกลงซื้อขายนี้เป็นที่เห็นได้ว่ารวมค่าไฟฟ้าเข้าด้วยแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้รับโอนที่ดินพร้อมตึกแถวด้านหลังซึ่งเป็นที่ดินติดต่อได้ใช้ค่าทดแทนในการวางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินซึ่งอยู่ด้านหน้าแก่เจ้าของเดิมแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดสิทธิอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1352 เจ้าของที่ดินเดิมไม่อาจบังคับให้เจ้าของที่ดินติดต่อย้ายสายไฟฟ้าให้พ้นไปจากที่ดินของตนได้และข้อจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่จำต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1338 ก็มีผลบังคับกันได้ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินด้านหน้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าออกไปให้พ้นบ้านโจทก์ได้ เพราะการฟ้องจำเลยก็มีผลเช่นเดียวกับการฟ้องเจ้าของที่ดินติดต่อนั่นเอง อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้โดยตรง ก็ชอบที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นแปลงย่อย 22 แปลง แล้วสร้างตึกแถวขึ้น 2 แถว ด้านหน้าติดถนน11 คูหา ด้านหลัง 10 คูหา โดยเว้นแถวแรก 1 คูหา เป็นทางสาธารณะต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวด้านหน้า 1 คูหา และด้านหลัง 1 คูหาซึ่งเป็นที่ดินแปลงย่อยด้านขวามือสุดเมื่อหันหน้าสู่ถนนตึกแถวที่โจทก์ซื้อมีสายไฟฟ้าแรงสูงของจำเลยเดินบนลูกถ้วยกระเบื้องเกาะติดผนังด้านซ้ายมือของตึกแถว เลี้ยวตัดทะลุเข้าไปในบ้านของโจทก์แล้วทะลุไปยังทางสาธารณะด้านหน้าของตึกแถวด้านหลัง อันเป็นอันตรายแก่ชีวิตทรัพย์สินของโจทก์ ขอให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ออกไป จำเลยให้การว่า ได้เดินสายไฟฟ้าโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินเดิม โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ออกจากอาคารโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินแปลงหนึ่งในจำนวน 22 แปลงที่นางฉวี ทัศนปรีดา แบ่งแยกออกเพื่อสร้างตึกแถวจำนวน 2 แถวตามแผนผังในโฉนดเอกสารหมาย จ.2 โดยตึกแถว 10 คูหา อยู่ด้านหลังตึกแถว 11 คูหา ที่อยู่ติดถนนอำนวยสงคราม แขวงถนนนครไชยศรีเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อสร้างเสร็จแล้วนางฉวีขอให้จำเลยเดินสายไฟฟ้าไปตามผนังตึกด้านนอกของห้องเลขที่ 7 ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างตึกแถวห้องเลขที่ 7 กับตึกแถวอื่นกว้างประมาณ 1 เมตรและด้านหน้าอยู่ติดถนนอำนวยสงคราม แล้วเลี้ยวไปตามกันสาดห้องเลขที่ 19 ด้านหลังห้องเลขที่ 7 ซึ่งอยู่แถวเดียวกันกับตึกแถวด้านหลัง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในตึกแถวด้านหลังมีไฟฟ้าใช้ต่อมานางฉวีโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกพร้อมตึกแถวให้บุคคลภายนอกไปโดยขายตึกแถวเลขที่ 7 เลขที่ 19 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 6437ให้นายธีรชาติ อธิกิจ เมื่อปี 2515 หลังจากนั้น นายธีรชาติโอนขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวซึ่งปรากฏในภายหลังว่าด้านหลังห้องเลขที่ 7 กับด้านหน้าห้องเลขที่ 19 ได้ก่อกำแพงเชื่อมต่อเป็นห้องเดียวกันให้โจทก์ มีปัญหาว่า โจทก์จะบังคับให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าซึ่งส่วนหนึ่งผ่านกลางบ้านโจทก์ออกไปได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นางฉวีเจ้าของเดิมขายที่ดินที่แบ่งแยกพร้อมห้องแถวด้านหลังซึ่งมีไฟฟ้าใช้แล้วให้กับผู้อื่นไปเป็นที่เห็นได้ว่าราคาที่ตกลงซื้อขายกันได้รวมค่าไฟฟ้าเข้าไปด้วยจึงถือได้ว่าผู้รับโอนที่ดินพร้อมห้องแถวด้านหลังซึ่งเป็นที่ดินติดต่อได้ใช้ค่าทดแทนในการวางสายไฟฟ้าผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 6437ให้แก่นางฉวีเจ้าของเดิมซึ่งยอมให้ผ่านแล้ว นับว่าเป็นข้อจำกัดสิทธิอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1352 นางฉวีจึงไม่อาจที่จะบังคับให้เจ้าของที่ดินติดต่อย้ายสายไฟฟ้าให้พ้นไปจากที่ดินของตนได้ ข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1338 บัญญัติว่าไม่จำต้องจดทะเบียนโจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6437 ตำบลถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมห้องแถวเลขที่ 7และ 19 ซึ่งเดิมเป็นของนางฉวีมา ต้องรับเอาผลจากข้อจำกัดสิทธิดังกล่าวมาด้วย จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสายไฟฟ้าออกไปให้พ้นบ้านโจทก์ เพราะการฟ้องจำเลยมีผลเช่นเดียวกับการฟ้องเจ้าของที่ดินติดต่อให้รื้อถอนสายไฟฟ้าออกไปนั่นเอง อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้โดยตรงก็ชอบที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง