คำสั่งคำร้องที่ 1245-1246/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218จึงไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายกล่าวคือ ข้อ 2.1 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อ 2.2 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีโดยฟังพยานจำเลยเพียงปากเดียวในแง่อันเป็นผลร้ายแก่จำเลย โดยไม่พิจารณาถึงพยานเอกสารและพยานบุคคลอื่นของจำเลยอีก เป็นการรับฟังพยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายข้อ 2.3 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นเพียงสำเนาเอกสารแล้วนำมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยเป็นการรับฟังพยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อ 3ฎีกาว่าหากแม้ศาลฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ก็เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวต่อเนื่องกันมิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกันตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
คดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นทำนองเดียวกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,264,265,266(4),90,91ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีทั้งสองสำนวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ต่อมาศาลชั้นต้นรวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 ให้จำคุกจำเลยไว้สำนวนละ 2 ปี รวม 2 สำนวนจำคุก 4 ปี คำขออื่นให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด 5 กรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปีรวมจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 216)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 218)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาจำเลยในข้อ 2.1ที่ว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเพียงสำเนาเอกสาร ซึ่งคำแปลเอกสารก็ไม่ถูกต้อง และพยานบุคคลว่าการซื้อขายลดเช็คเป็นกิจการที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยร่วมกันทำแยกจากบริษัทไทยมั่นคง จำกัดโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายความจริงโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นไม่ใช่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรง ฎีกาข้อ 2.2 ที่ว่าจำเลยไม่ได้ขีดฆ่าขูดลบลายมือชื่อของจำเลยในด้านหลังเช็คพิพาททั้งห้าฉบับ ข้อ 2.3 ซ้ำกับฎีกาข้อ 2.1 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าวชอบแล้ว ส่วนฎีกาจำเลยข้อ 3 ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวต่อเนื่องกัน มิใช่ความผิดหลายกรรมดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เป็นปัญหาข้อกฎหมายให้รับฎีกาจำเลยในข้อนี้ไว้พิจารณาและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

Share