แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกับ ศ. มีอาวุธปืนชนิดร้ายแรงคนละกระบอกมิได้ร่วมกันไปกระทำความผิดอื่น เมื่อถูกเจ้าพนักงานล้อมจับต่างก็วิ่งหลบหนีเจ้าพนักงานเพื่อให้พ้นจากการจับกุมโดยต่างคนต่างไป แม้จะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไปคนละทีและไปห่างกัน การที่ ศ. ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานที่เข้าจับกุมโดยจำเลยมิได้ใช้อาวุธปืนยิงด้วยจึงเป็นการกระทำเฉพาะตัวของ ศ. จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกับศ. กระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 8 กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 140, 289(2), 80, 83, 91 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 3พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่1382/2529 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1707/2529 และ 1717/2529 ของศาลชั้นต้นกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ ท.4/2529 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 5(ศาลจังหวัดสงขลา) จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78ที่แก้ไขแล้ว กฎกระทรวงฉบับที่ 11 ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 289(2), 80, 83, 91คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 289(2), 80, 83 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289(2), 80, 83 ประกอบมาตรา 52 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วางโทษจำคุกจำเลย 4 ปีจำเลยนำสืบรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุและมีอาวุธปืนเอช.เค. เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ที่แก้ไขแล้วจำคุกจำเลยมีกำหนด 40 ปี 6 เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1382/2529 และที่ 1925/2530 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 289(2) เมื่อลดโทษให้จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้วคงจำคุกจำเลย 3 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่อีกกระทงหนึ่งดังโจทก์ฎีกาหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจชากอน ดวงจันทร์ และจ่าสิบตำรวจสุบงค์ เหมทานนท์ผู้เสียหายทั้งสองมาเบิกความว่า เมื่อจำเลยกับนายเศียร ยูงทองวิ่งลงจากบ้านเพื่อหลบหนีนั้น จำเลยถืออาวุธปืน เอช.เค. ส่วนนายเศียร ยูงทอง ถืออาวุธปืนคาร์ไบน์หรือคาร์บิน คนละกระบอกเมื่อจ่าสิบตำรวจชากอนตะโกนบอกว่า นี่เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมมอบตัวเสียโดยดี จำเลยกับนายเศียรยิงอาวุธปืนมาทางพยานทั้งสองประมาณ3-4 นัด แต่กระสุนไม่ถูกใคร หลังจากนั้น จำเลยกับนายเศียรวิ่งไปทางทิศตะวันออกของบ้านซึ่งเป็นป่าสวนยางห่างจากบ้านประมาณ 13 เมตรจำเลยกับนายเศียรยิงอาวุธปืนมาทางพยานทั้งสองอีกประมาณ 10 นัดพยานทั้งสองจึงช่วยกันยิงป้องกันตัวไปประมาณ 2-3 นัด นานประมาณ15 นาที เสียงอาวุธปืนฝ่ายจำเลยสงบลง และปรากฏตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสุบงค์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1473/2527 ว่านายเศียร ยูงทอง เป็นคนยิงเพียงคนเดียว พยานกับจ่าสิบตำรวจชากอนจึงยิงโต้ตอบไปประมาณ 20 นัด จึงไม่ตรงกับที่เบิกความในคดีนี้อย่างไรก็ดีเมื่อพยานทั้งสองกับพวกที่มาถึงภายหลังเข้าตรวจพื้นที่ตรวจพบปลอกกระสุนปืนคาร์ไบน์ 7 ปลอก อาวุธปืนคาร์ไบน์ 1 กระบอกซองกระสุนปืน 1 ซอง กระสุนปืนคาร์ไบน์ 4 นัด ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.1 ไม่ปรากฏว่าพบปลอกกระสุนปืน เอช.เค.เลย แสดงว่าจำเลยมิได้ยิงอาวุธปืนเลย หากจำเลยยิงก็จะต้องตรวจพบปลอกกระสุนปืน เอช.เค. ที่จำเลยถือพาหนีไปอย่างแน่นอน ที่โจทก์ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนอาจตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่ละเอียดรอบคอบพอจึงไม่พบปลอกกระสุนปืนเอช.เค.ด้วย หรือจำเลยอาจเอาปลอกกระสุนปืนทิ้งไปในคลองพร้อมอาวุธปืน เอช.เค. ของจำเลยก็อาจเป็นได้นั้นก็เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ในทางเป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะจำเลยกำลังหนีการจับกุมและถูกเจ้าพนักงานยิงโต้ตอบไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะมัวมาเก็บปลอกกระสุนปืนของตนไปด้วย จึงไม่อาจเป็นดังโจทก์ฎีกาได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยจะไม่ได้ยิง แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยกับนายเศียรมีอาวุธปืนชนิดร้ายแรงคนละกระบอกต่างก็หลบหนีเจ้าพนักงานไปด้วยกัน และเมื่อถูกเจ้าพนักงานล้อมจับได้กระโดดลงจากบ้านพร้อมอาวุธปืน ไม่ยอมให้จับแล้วใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวาง กระสุนปืนถูกที่เจ้าพนักงานกำบังอยู่ จำเลยกับนายเศียรได้ร่วมกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดรับโทษเสมือนตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยมิได้ใช้อาวุธปืนยิงพยานโจทก์ทั้งสองดังวินิจฉัยมาแล้วแม้จำเลยกับนายเศียรจะอยู่ด้วยกันที่บ้านบิดาจำเลย ก่อนที่พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกจะไปถึง แต่ก็ไม่ได้ความว่า จำเลยกับนายเศียรและพวกจะร่วมกันไปกระทำความผิด เพียงแต่เมื่อพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกเข้าล้อมบ้านจะจับกุม จำเลยกับนายเศียรและพวกต่างคนต่างวิ่งลงจากบ้านเพื่อหนีให้รอดพ้นจากการถูกจับกุมโดยต่างคนต่างไป แม้จะไปในทิศทางเดียวกันก็น่าเชื่อว่าไปคนละทีและไปห่างกัน เพราะมีแต่นายเศียรคนเดียวถูกกระสุนปืนของเจ้าพนักงานจนได้รับบาดเจ็บถึงกับต้องทิ้งอาวุธปืนคาร์ไบน์หากจำเลยไปพร้อมนายเศียร จำเลยก็น่าจะถูกกระสุนปืนของเจ้าพนักงานบ้างเพราะยิงโต้ตอบไปถึง 20 กว่านัด การยิงเจ้าพนักงานหรือพยานโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกระทำเฉพาะตัวของนายเศียรซึ่งนายเศียรก็ให้การรับสารภาพและถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ร่วมกับนายเศียรยิงด้วย เพราะต่างคนต่างมุ่งหลบหนีจากการถูกจับกุม ไม่เหมือนกับกรณีที่ร่วมกันไปกระทำความผิด ซึ่งต้องมีการตกลงร่วมคบคิดกันมาก่อนที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้กระทำผิดในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการกระทำของนายเศียรเพียงคนเดียว นั้น มีเหตุผลฟังได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวนี้ ชอบแล้ว”
พิพากษายืน