คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4151/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า การที่โซดาแอชของโจทก์เสียหายเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย และไม่เอาใจใส่ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของโจทก์ และเป็นการจงใจทำให้โซดาแอชเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายดังนี้เป็นคำฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในความผิดฐานละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420และตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 8(5) โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2525และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2525 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2526 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม มาตรา 448 ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2526 ให้นำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ถือได้ว่าศาลแพ่งได้ยกคดีของโจทก์เสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 บัญญัติให้ขยายอายุความนี้ออกไปถึง 6 เดือน ภายหลังคำพิพากษานั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2526คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อุทธรณ์ในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้างซึ่งมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2526 ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2526 เพราะคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 บัญญัติว่าถ้าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล ให้ขยายอายุความนั้นออกไปถึง 6 เดือน ภายหลังคำพิพากษานั้น คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยกล่าวในข้อ 3ว่า การที่โซดาแอชของโจทก์เสียหาย เป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสองและไม่เอาใจใส่ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของโจทก์และเป็นการจงใจทำให้โซดาแอชของโจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และผิดสัญญาที่จำเลยทั้งสองกระทำไว้กับโจทก์จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ดังนี้ตามคำฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในการที่จำเลยทั้งสองได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือจงใจทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการผิดสัญญาจ้างที่จำเลยทั้งสองได้ทำไว้กับโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องที่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ในความผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 8(5) คือ คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเมื่อคดีของโจทก์เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิด โจทก์จะต้องฟ้องผู้ทำละเมิดเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 448แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2525(น่าจะเป็นวันที่ 28 มิถุนายน 2525) และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2525 และตามคำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2526 ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2526 ให้โจทก์นำคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางซึ่งโจทก์ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2526 ซึ่งในคำฟ้องที่โจทก์อ้างว่าได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2516 จำเลยทั้งสองไม่ให้การถึง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2526 แล้วจริง จึงเป็นการฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนดอายุความ ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2526 ให้นำคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ดังนี้ถือได้ว่าศาลแพ่งได้ยกคดีของโจทก์เสียเพราะเหตุคดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ขยายอายุความนี้ออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น ด้วยเหตุดังกล่าวแม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2526 พ้นกำหนด 1 ปีแล้วก็ไม่ทำให้คดีของโจทก์ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น” ฯลฯ

พิพากษายืน

Share