คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลักไป จำเลยทั้งสองได้ ขายทรัพย์นั้นและมอบเงินที่ได้ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่คดีฟังไม่ได้ ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้รับเงินไว้โดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้มา จากการขายทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไป ทั้งไม่ถือว่าเงินนั้นเป็น ของโจทก์เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด การกระทำของ จำเลยที่ 3ที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิ เรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 พฤษภาคม 2528) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 150,000 บาท และ 14,121.25 บาท ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้จำเลยที่ 2 ให้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500บาท แทนโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ และต้องชดใช้เงินที่รับไว้จากจำเลยที่ 2 คืนโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ลักทรัพย์สินในบ้านของโจทก์แล้วร่วมกันจำหน่ายได้เงินสดนำฝากธนาคาร ต่อมาจำเลยที่ 2ได้ถอนเงินบางส่วนมอบให้จำเลยที่ 3 ฝากธนาคาร และบางส่วนมอบให้จำเลยที่ 4 แล้วจำเลยที่ 4 มอบเงินบางส่วนให้จำเลยที่ 3ฝากธนาคารแล้วนำบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ ทั้งโจทก์และร้อยตำรวจเอกธีรพงษ์ เรืองสอน พยานโจทก์ ก็ได้เบิกความไว้แล้วว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ต่างทราบว่าเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ถอนมาเปิดบัญชีในนามจำเลยที่ 3 ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไปเนื่องจากเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้แล้ว ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้พาโจทก์ สามีโจทก์ กับพวกไปที่แฟลต พี.เอส.เฮ้าส์ ซึ่งจำเลยที่ 2เช่าพักอาศัยอยู่ พบทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย ได้คืนเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยทั้งสี่เจรจาขอชดใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์โดยจะนำเงินจำนวน 190,000 บาท ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ ตามสำเนาภาพถ่ายสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.3 ไปไถ่ทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำนำไว้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับว่าเงินฝากจำนวน 206,000 บาท ในสมุดคู่ฝากดังกล่าวได้มาจากการที่นำทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งถูกลักไปจำหน่ายและได้ความจากร้อยตำรวจเอกธีรพงษ์ เรืองสอน พยานโจทก์ว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินจำนวน 190,000 บาท จากธนาคาร เงินส่วนหนึ่งได้นำไปไถ่ถอนทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 นำไปจำนำไว้คืนมาเห็นว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์ตามข้อหาในฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้เงินคืนโจทก์ แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไปดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้องแต่อย่างใดข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 เคยร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 เจรจาขอชดใช้ราคาทรัพย์สินให้โจทก์โดยจะนำเงินจำนวน190,000 บาท จากสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.3 ของจำเลยที่ 2ไปไถ่ทรัพย์สินของโจทก์ที่นำไปจำนำและมอบเงินที่เหลือคืนให้โจทก์แต่จำเลยที่ 2 กลับมอบเงินที่ถอนจำนวน 100,000 บาท และ 64,721.25บาท ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 นำไปฝากธนาคารในนามจำเลยที่ 3 ที่ 4ตามลำดับ แล้วจำเลยที่ 4 มอบเงินที่รับมาให้จำเลยที่ 3 ไปอีก50,000 บาท เท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป นอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดแต่อย่างใดการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับมอบเงินจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของเงินที่จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 3 ที่ 4 นั้น เห็นว่า แม้เงินจำนวนดังกล่าวได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป ก็จะถือว่าเป็นเงินของโจทก์มิได้ เพราะมิใช่ตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไปโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3ที่ 4…”
พิพากษายืน.

Share