คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีเจตนาฆ่า เพียงแต่เจตนาทำร้ายเป็นผลให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้นและลักษณะบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย จำเลยที่1 และที่ 3 คงมีความผิดตามมาตรา 295 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษและวางอัตราโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขปรับบทและวางอัตราโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามฆ่านายประเกียรติ์ ดุมใหม่ ถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 มิใช่เป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตาย แต่จำเลยที่ 3 ทำร้ายผู้ตายโดยพลการของตนเองที่เห็นจำเลยที่ 1 เพลี่ยงพล้ำเสียทีผู้ตายจึงเข้าช่วยเหลือ ส่วนจำเลยที่ 2 เห็นเหตุการณ์โดยตลอดที่จำเลยที่ 1 กับผู้ตายเข้าต่อสู้กันแล้วจำเลยที่ 1 เพลี่ยงพล้ำเสียทีผู้ตายโดยผู้ตายขึ้นนั่งคร่อมจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นดังนั้นจึงเข้าไปฟันผู้ตายและเนื่องจากผู้ตายนั่งคร่อมจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 2 จึงฟันผู้ตายถูกที่ไหล่และคอข้างขวาโดยพลการของจำเลยที่ 2 เอง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 มิได้สำคัญผิดในข้อเท็จจริงและเข้าป้องกันจำเลยที่ 1 ดังจำเลยที่ 1 ต่อสู้ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามผลอันเกิดจากการกระทำของตน จากรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลที่บริเวณคอและไหล่ด้านขวาและที่บริเวณศีรษะและมีรอยช้ำเขียวที่บริเวณแขนซ้าย เหตุที่ตายเพราะเสียเลือดมากเกินไป จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้เหล็กแป๊ปน้ำยายาวประมาณหนึ่งช่วงแขนตีผู้ตายที่ต้นขา 2 ที จนผู้ตายเสียหลักล้ม การที่จำเลยที่ 1 เลือกตีที่ต้นขาซึ่งไม่ใช่อวัยวะสำคัญ แม้จะตีโดยแรงจนผู้ตายล้มลงก็แสดงว่ามิได้มีเจตนาฆ่าและเชื่อว่าการตีของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่กายและการที่จำเลยที่ 3 ใช้ไม้คล้ายด้ามจอบยาวประมาณหนึ่งช่วงแขนตีศีรษะผู้ตาย 2-3 ที บาดแผลที่บริเวณศีรษะผู้ตายเชื่อว่าเกิดจากการตีของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ปรากฏว่ากว้างยาวลึกเท่าใด เห็นว่าลักษณะอาวุธที่ใช้ทำร้ายและบาดแผลที่ได้รับนี้จำเลยที่ 3 ไม่มีเจตนาฆ่า เพียงแต่เจตนาทำร้ายเป็นผลให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น และเห็นว่าจากลักษณะบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย จำเลยที่ 1 และที่ 3 คงมีความผิดตามมาตรา 295 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษและวางอัตราโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขปรับบทและวางอัตราโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ ส่วนบาดแผลที่คอและไหล่ขวา ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายนั้นเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 แสดงว่ามีเจตนาฆ่า มีผลให้เลือดออกมากเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปีและรอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share