แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ไม้สักแปรรูป 46 แผ่น ปริมาตร 0.19 ลูกบาศก์เมตรและไม้แดงแปรรูป 12 แผ่นปริมาตร 0.54 ลูกบาศก์เมตร ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ทั้งสองจำนวน เป็นไม้หวงห้ามในประเภท ก. ซึ่งจำเลยมีไว้ในเวลาเดียวกัน บทมาตราที่บัญญัติเป็นความผิดและบทกำหนดโทษก็คือมาตรา 48 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน เพียงแต่กำหนดประเภทไม้ทั้งสองและกำหนดระวางโทษไว้ต่างวรรคกันโดยที่มาตรา 73 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษหนักขึ้น สำหรับความผิดเกี่ยวกับไม้สัก ไม้ยางหรือไม้หวงห้ามประเภท ข.แสดงว่าไม้หวงห้ามแปรรูปนั้นไม่ว่าจะเป็นไม้หวงห้ามชนิดใดก็ถือว่าเป็นวัตถุในประเภทเดียวกัน ฉะนั้น การมีไม้สักแปรรูปและไม้แดงแปรรูปไว้ในครอบครองในคราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวหาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225
จำเลยมีไม้สักแปรรูปและไม้แดงแปรรูปจำนวนดังกล่าวข้างต้นไว้ในครอบครองซึ่งเป็นไม้เก่าที่จำเลยรื้อถอนจากบ้านหลังเก่ามาเก็บสะสมไว้ส่วนหนึ่งและอีกบางส่วนก็เก็บรวบรวมมาจากไม้เก่าที่มิได้ใช้ประโยชน์แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและจำเลยพึ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรก การลงโทษจำคุกจำเลยเสียทีเดียวโดยไม่ให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีก่อนน่าจะไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม ตามพฤติการณ์แห่งคดีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติหรือจำเลยเห็นสมควร 30 ชั่วโมง มีกำหนด 1 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7,48, 73, 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 48, 73 (ที่ถูกมาตรา 73 วรรคสอง), 74 เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีไม้สักแปรรูปจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท ฐานมีไม้แดงแปรรูป จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 7,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร 30 ชั่วโมง มีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับ ไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า ไม้สักแปรรูป 46 แผ่น ปริมาตร 0.19ลูกบาศก์เมตร และไม้แดงแปรรูป 12 แผ่น ปริมาตร 0.54 ลูกบาศก์เมตร ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ทั้งสองจำนวน เป็นไม้หวงห้ามในประเภทก. ซึ่งจำเลยมีไว้ในเวลาเดียวกัน บทมาตราที่บัญญัติเป็นความผิดและบทกำหนดโทษก็คือมาตรา 48 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน เพียงแต่กำหนดประเภทไม้ทั้งสองและกำหนดระวางโทษไว้ต่างวรรคกันโดยที่มาตรา 73 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษหนักขึ้นสำหรับความผิดเกี่ยวกับไม้สักไม้ยางหรือไม้หวงห้ามประเภท ข. แสดงว่าไม้หวงห้ามแปรรูปนั้นไม่ว่าจะเป็นไม้หวงห้ามชนิดใด ก็ถือว่าเป็นวัตถุในประเภทเดียวกัน ฉะนั้นการมีไม้สักแปรรูปและไม้แดงแปรรูปไว้ในครอบครองในคราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 48, 73 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 74 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปตามมาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร 30 ชั่วโมง มีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง