แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 41 จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ทั้งการฟ้องคดีต่อศาลมิใช่การทำนิติกรรม แม้บริษัทมหาชนจำกัดถูกระงับกิจการไม่สามารถดำเนินกิจการของตนได้ ก็ไม่ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 จำเลยเป็นลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ และทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและนายหน้าพร้อมทั้งทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินการซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทนจำเลย จำเลยเปิดบัญชีทดรองจ่ายเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์กับโจทก์ โดยมีข้อตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยสำหรับหนี้ที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดเท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 21 ต่อปี ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2539 จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทคาสเซ่อร์ฟิค โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์หลายครั้งรวมทั้งสิ้น 205,400 หุ้น เป็นเงินค่าซื้อหลักทรัพย์และค่าบำเหน็จนายหน้าทั้งสิ้น 24,245,926.50 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 จำเลยทำบันทึกต่อโจทก์ยอมรับว่า คงค้างชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินดังกล่าวข้างต้นและยินยอมให้โจทก์นำเงินจำนวน 9,813,828.70 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยวางไว้เป็นประกันหนี้มาหักชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ได้ โจทก์จึงนำต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินมาหักชำระหนี้ที่จำเลยค้างชำระ ต่อมาหลักทรัพย์ที่จำเลยวางเป็นประกันในบัญชีของจำเลยมีมูลค่าลดลง จนทำให้อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันมีอัตราต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีทดรองจ่ายเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยนำทรัพย์สินมาวางเพิ่มแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงนำหุ้นของบริษัทที่จำเลยซื้อไว้ออกขายทั้งหมด แต่ขายหุ้นได้ต่ำกว่าราคาที่ซื้อ ทำให้จำเลยมีหนี้ขาดทุนทั้งสิ้น 13,324,328.77 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ที่ขาดทุนจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 เป็นเงิน 1,306,595.73 บาท และจำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยมีหนี้ขาดทุนนับแต่วันที่โจทก์หักทอนบัญชีในแต่ละครั้งที่ขายหุ้นคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,506,613.08 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 16,137,537.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 13,324,328.77 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว า โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงไม่มีสิทธิกระทำการเป็นตัวแทนและนายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลเพราะกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ปิดกิจการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้นำหุ้นของจำเลยจำนวน 205,400 หุ้น ออกขายทอดตลาดในราคาหุ้นละ 117 บาท ซึ่งหากโจทก์นำออกขายในราคาดังกล่าวแล้วจะได้เงินจำนวน 24,031,800 บาท และนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักชำระหนี้ของจำเลยได้ทั้งหมด แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการขายหุ้นในฐานะตัวแทนที่พึงกระทำ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หรือในอัตราไม่เกินร้อยละ 24 ต่อปี เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจออกประกาศกำหนดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว และการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ เป็นการเรียกดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บ ดังนั้น ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 16,137,537.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 13,324,328.77 บาท นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีแทน ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่บริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปซึ่งสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดภายใต้ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยจำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยก่อนโดยจำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ถูกคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ 184/2540 ให้ระงับกิจการ การทำนิติกรรมหรือการตั้งทนายความในการดำเนินคดีจึงไม่สามารถดำเนินการได้ การดำเนินคดีของโจทก์มาตั้งแต่เริ่มแรกเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 41 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ทั้งการฟ้องคดีต่อศาลมิใช่การทำนิติกรรม แม้โจทก์ถูกระงับกิจการไม่สามารถดำเนินกิจการของโจทก์ได้ ก็หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายสรุปเป็นใจความว่า สัญญานายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีความแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง โจทก์มิได้กำหนดการบังคับขายหลักทรัพย์ตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปล่อยให้ราคาหุ้นลดลงต่ำมากถึงที่ราคา 113 บาท ต่อหุ้น แล้วขายเป็นการเอาเปรียบจำเลย และต้องห้ามตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 98 (3) โจทก์มิได้รักษาผลประโยชน์ของจำเลยตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพในฐานะเป็นบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์และเป็นการกระทำโดยมีเจตนาไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยในข้อนี้ จำเลยให้การว่า จำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 9,813,828.70 บาท มาวางเป็นหลักประกันในหนี้เงินกู้ และจำเลยได้นำหุ้นจำนวน 205,400 หุ้น มอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักประกันด้วยโดยมีข้อตกลงเป็นสาระสำคัญว่าให้โจทก์มีอำนาจนำตั๋วสัญญาใช้เงินมาหักกลบลบหนี้ได้ และให้โจทก์มีหน้าที่และมีอำนาจในการนำหุ้นซึ่งเป็นหลักประกันออกขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ทั้งนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ดูแลและนำหุ้นดังกล่าวออกขายในราคาอันสมควรมิให้โจทก์หรือจำเลยได้รับความเสียหาย แต่ปรากฏว่าโจทก์กลับนำตั๋วสัญญาใช้เงินมาหักชำระหนี้จนเหลือเงินจำนวน 7,351,346.93 บาท ซึ่งตามข้อตกลงแล้ว โจทก์ต้องนำหุ้นจำนวน 205,400 หุ้น ออกขาย หากขายในราคาหุ้นละ 117 บาท ก็จะได้รับเงิน 24,031,800 บาท ซึ่งเป็นการเพียงพอที่จะหักกลบลบหนี้ได้ทั้งหมด แต่โจทก์กลับเพิกเฉย จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินค่าหุ้นหรือหนี้เงินใดๆ แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่นอกเหนือคำให้การ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่บริษัทหลักทรัพย์ทั่วไป ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามคำขอเปิดบัญชีทดรองจ่ายเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ.13 ข้อ 15 ที่ระบุว่าจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยในยอดหนี้ที่ค้างชำระต่อโจทก์ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นั้น จำเลยได้เบิกความเป็นพยานว่า ตามเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 15 ซึ่งมีการกรอกจำนวนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี นั้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้กรอกข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่าโจทก์โดยพนักงานของโจทก์ประกอบธุรกิจโดยเอาเปรียบจำเลย ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้มิได้กำหนดโดยให้จำเลยทราบด้วย และโจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ ส่วนของดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยทั้งหมด แต่ปรากฏว่าในปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ก่อนฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น แต่การคำนวณอัตราดอกเบี้ยของโจทก์หลังฟังคดี โจทก์ยังต้องถือปฏิบัติตามประกาศโจทก์ให้สอดคล้องกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่โจทก์ถูกระงับการดำเนินกิจการมีการชำระบัญชีจนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงไม่มีประกาศโจทก์ที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยหลังฟ้องคดีได้อีก ทั้งอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ที่โจทก์ขอมาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะเศรษฐกิจภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ศาลอุทธรณ์จึงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายที่โจทก์อาจคำนวณดอกเบี้ยได้ตามอัตราที่บริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปซึ่งเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศกำหนดนับถัดจากวันฟ้องคดีจนกว่าจำเลยจะชำระเงินต้นคืนให้โจทก์ เป็นการวินิจฉัยนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพัน