แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. ลักษณะ 8 หมวด 2 ว่าด้วยการรับขนคนโดยสารไม่ได้กำหนดไว้ว่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบต่อคนโดยสารมีเฉพาะความเสียหายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินด้วย โจทก์ซึ่งเป็นคนโดยสารจึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 โจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนกัน และโจทก์ได้โดยสารรถยนต์โดยสารของจำเลยเพื่อเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังกรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงจังหวัดตาก รถยนต์โดยสารของจำเลยเกิดประสบอุบัติเหตุเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายถึงสาหัส โจทก์รักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 และต่อมาบริษัทโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชำระเงินให้โรงพยาบาลดังกล่าวถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงินจำนวน 881,286.79 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และจากอาการบาดเจ็บดังกล่าว โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดเป็นเงินจำนวน 93,600 บาท และต้องทำกายภาพบำบัดไปตลอดชีวิตซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวน 156,000 บาท นอกจากนี้การที่โจทก์มีสภาพเหมือนคนทุพพลภาพไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ ทำให้โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 2,130,886.30 บาท แต่โจทก์คิดเพียง 2,000,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีพายุแรงและต้นไม้ใหญ่ข้างทางถูกฟ้าผ่าล้มขวางทางรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุอย่างกะทันหัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 577,891 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในส่วนฎีกาของจำเลยนั้น จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยทนายจำเลยลงชื่อรับรองไว้ท้ายฎีกาว่าข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยและสั่งให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์ภายใน 7 วัน โดยมีคำสั่งในวันเดียวกับที่จำเลยยื่นฎีกา จึงต้องถือว่าจำเลยทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว เมื่อจำเลยไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้น ถือว่าจำเลยทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 จึงให้จำหน่ายคดีของจำเลยออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน อันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามสัญญารับขนนั้น รวมถึงค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทน อันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ เห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 8 หมวด 2 ว่าด้วยการรับขนคนโดยสารไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบต่อคนโดยสารมีเฉพาะความเสียหายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้ขนส่งก็ย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินด้วยโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ต้องกลายเป็นคนที่ไม่สามารถแหงนหน้าหรือเอี้ยวคอได้ตามปกติมีเพียงใด ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองจะยังไม่ได้วินิจฉัยมา แต่เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน และเห็นว่า แม้อาการกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณคอตึง ทำให้โจทก์แหงนหน้าไม่ได้ เอี้ยวคอไม่สะดวกและกลืนอาหารลำบากก็ตามแต่ก็ได้ความจากใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.10 ว่า อาการเจ็บป่วยดังกล่าวสามารถเยียวยาแก้ไขด้วยการออกกำลังกายส่วนคอ และอาการดังกล่าวแม้จะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของโจทก์บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นที่โจทก์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่โจทก์ฎีกาขอใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท นั้นจึงเป็นจำนวนที่สูงเกินไป พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมาแล้ว จำนวน 577,891 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 677,891 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 677,891 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 577,891 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 และของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มีนาคม 2547) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ