คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งกำหนดเวลาทำงานปกติของพนักงานคือ 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา การทำงานนอกเวลาดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ โจทก์ได้รับคำสั่งให้ทำงานในวันหยุดตั้งแต่ 13.00 นาฬิกา ถึง 6.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น โดยมีช่วงหยุดพักระหว่าง 17.00 นาฬิกา ถึง18.00 นาฬิกา และ 24.00 นาฬิกา ถึง 1.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เช่นนี้ รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานล่วงเวลาคือ 11 ชั่วโมง ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ในอัตราสามเท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2525 ซึ่งเป็นวันเสาร์และเป็นวันหยุด จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานตั้งแต่เวลา 13.00 นาฬิกา จนถึง 6.00นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติในวันหยุด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุดเท่ากับ 3 เท่าคูณด้วยค่าจ้างต่อชั่วโมงคูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเป็นเงิน 1,324.29 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 1,003.25บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ยังขาดอยู่อีก 321.04 บาทแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ จำเลยได้กำหนดเวลาทำงานของพนักงานไว้วันละ 8ชั่วโมง จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ก็ต่อเมื่อโจทก์ทำงานครบ 8 ชั่วโมงของวันทำงานเสียก่อน คือตั้งแต่เวลา 13.00 นาฬิกา ถึง 22.00 นาฬิกา โดยหักเวลาพักระหว่าง 17.00 นาฬิกา ถึง 18.00 นาฬิกา ออกแล้ว ดังนั้นค่าล่วงเวลาของโจทก์จึงต้องเริ่มคิดตั้งแต่ 22.00 นาฬิกาเป็นต้นไปจนถึงเวลา 6.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เมื่อหักเวลาพัก 1 ชั่วโมงแล้ว ค่าทำงานของโจทก์เป็นเงิน 1,003.25บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์

วันนัดพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การทำงานล่วงเวลาในวันหยุดนั้นจะต้องมีการทำงานครบ 8 ชั่วโมง ของวันทำงานปกติเสียก่อน ส่วนที่เกินจึงเป็นเวลาทำงานล่วงเวลา ฉะนั้นช่วงเวลาทำงานของโจทก์ในวันเสาร์รวม 8 ชั่วโมง เมื่อหักเวลาพักแล้วคือตั้งแต่เวลา 13.00 นาฬิกา ถึง 22.00 นาฬิกา ถือว่าเป็นการทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 39(1) ไม่เป็นการทำงานล่วงเวลา ส่วนการทำงานตั้งแต่เวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา เป็นการทำงานล่วงเวลาวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 42 และเวลาทำงานตั้งแต่ 1.00 นาฬิกา ถึง 6.00 นาฬิกา ในวันอาทิตย์รวม 5 ชั่วโมง ก็เป็นการทำงานในวันหยุดตามข้อ 39(1) จำเลยจ่ายค่าทำงานให้โจทก์จำนวน 1,003.25 บาท เป็นการจ่ายครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยมีคำสั่งกำหนดเวลาทำงานของพนักงานคือเริ่มทำงานตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา หยุดพักกลางวันเวลา 12.00 นาฬิกา ถึง 13.00 นาฬิกา หาได้กำหนดเวลาทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงไม่ ดังนั้นเวลาทำงานปกติก็คือเวลาตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา การทำงานนอกเวลาดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานตั้งแต่ 13.00 นาฬิกาของวันเสาร์จนถึง 6.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ จึงต้องถือว่าหลังจากเวลา 17.00 นาฬิกาเป็นการทำงานล่วงเวลาแต่เวลา 17.00 นาฬิกาถึง 18.00 นาฬิกา ในวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาหยุดพักงานจึงต้องเริ่มนับเวลาทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เวลาหลังจาก 18.00 นาฬิกา เป็นต้นไปและโจทก์ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันไปจนถึง 6.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ถึงแม้วันรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ ก็ต้องถือระยะเวลาทำงานของโจทก์ที่ติดต่อกันนั้น เป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดด้วย มิใช่เป็นการทำงานในวันหยุดดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รับกันแล้วว่ามีการหยุดพักงานระหว่าง 24.00 นาฬิกา ถึง 1.00 นาฬิกา อีก 1 ชั่วโมง รวมเวลาทำงานล่วงเวลาของโจทก์ตั้งแต่ 18.00 นาฬิกาถึง 24.00 นาฬิกาของวันเสาร์เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1.00 นาฬิกา ถึง 6.00 นาฬิกา อีก 5 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้นโจทก์ทำงานล่วงเวลา 11 ชั่วโมง ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 42 จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ในอัตราสามเท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ จึงเท่ากับ40.13 บาท คูณด้วย 11 คูณด้วย 3 เป็นเงิน 1,324.29 บาท ตามที่โจทก์เรียกร้อง จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 1,003.25 บาท จึงขาดไป 321.04 บาท อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 321.04 บาทแก่โจทก์

Share