คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 4,600,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2,300,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 120,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 260,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 436,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 308,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 80,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 13 จำนวน 120,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 14 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 15 จำนวน 424,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 16 จำนวน 150,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 17 จำนวน 350,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 18 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 19 จำนวน 80,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 15 ถึงที่ 19 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยเรียกผู้เสียหายดังกล่าวเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 17 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) (จ) (2) (ก), 9, 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยทั้งสองกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 5 ปี จำเลยที่ 1 รวม 19 กระทง รวมจำคุก 95 ปี จำเลยที่ 2 รวม 14 กระทง รวมจำคุก 70 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) รวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นไม่เกินยี่สิบปี คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 4,600,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 2,300,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 200,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 4 จำนวน 120,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 5 จำนวน 100,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 6 จำนวน 260,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 7 จำนวน 400,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 8 จำนวน 436,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 9 จำนวน 308,500 บาท โจทก์ร่วมที่ 10 จำนวน 80,000 บาท ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 130,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 11 จำนวน 20,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 12 จำนวน 120,000 บาท ผู้เสียหายที่ 14 จำนวน 82,100 บาท โจทก์ร่วมที่ 13 จำนวน 400,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 14 จำนวน 150,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 15 จำนวน 350,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 16 จำนวน 67,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 17 จำนวน 80,000 บาท กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 6 ถึงที่ 10 ผู้เสียหายที่ 11 โจทก์ร่วมที่ 11 โจทก์ร่วมที่ 12 และโจทก์ร่วมที่ 13 ถึงที่ 17 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5 จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 5 (1) (ข) (จ) (2) (ก) และการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นความผิดมานั้น เป็นความผิดกรรมเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 โดยอ้างว่าจะนำเงินที่กู้ยืมไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมอีกต่อหนึ่งและจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน โดยโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 แต่ละคนให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินต่างวันต่างเวลากัน เห็นว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไปผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ดังนี้ การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง คือ 19 กรรม และ 14 กรรมตามลำดับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 5 ปี จำเลยที่ 1 รวม 19 กระทง เป็นจำคุก 95 ปี จำเลยที่ 2 รวม 14 กระทง เป็นจำคุก 70 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share