แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในระหว่างสอบสวน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีมีอำนาจปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวมีระยะเวลาอย่างสูงไม่เกินหกเดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว เมื่อพ้นเวลาดังกล่าวพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาต่อไปอีกเท่านั้น สำหรับการสอบสวนหากมีความจำเป็นต้องทำให้เสร็จ ก็คงดำเนินการต่อไปได้เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ แม้การไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 113 วรรคสอง ทำให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากการควบคุม แต่ก็มิใช่บทบังคับให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจำต้องส่งผู้ต้องหามาศาล และยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาไว้เสมอไป เว้นแต่มีความจำเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาต่อไปอีก กรณีหาได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าการสอบสวนชอบหรือมิชอบแต่ประการใดไม่ ทั้งการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังบัญญัติไว้ตามมาตรา 113 วรรคสอง ก็มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33, 83, 91, 251, 252, 264, 265 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 251, 252, 264, 265, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ความผิดฐานปลอมดวงตรากระทรวงการต่างประเทศ ฐานใช้รอยตราปลอม ฐานปลอมเอกสารราชการและฐานใช้เอกสารราชการปลอมเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 3 ปี กระทงหนึ่งและลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 จำคุก 3 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปีจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 คงจำคุก 3 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานจับเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534 และได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนเมื่อวันที่ 8 เดือนเดียวกัน จนถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2534 เป็นเวลาเกิน 6 เดือน นับแต่วันปล่อยชั่วคราว ระยะเวลาที่พ้น 6 เดือนนั้น พนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 113 วรรคสอง กล่าวคือมิได้ส่งผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาไว้ ถือว่าการควบคุมผู้ต้องหาไม่ชอบ และการสอบสวนที่มีขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวเป็นการสอบสวนไม่ชอบพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจยื่นฟ้องคดีต่อศาลนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราวไม่ว่าจะมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันหรือไม่ การปล่อยชั่วคราวนั้นให้ใช้ได้ระหว่างการสอบสวนหรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนหรือจนถึงศาลประทับฟ้อง แต่มิให้เกินสามเดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าเป็นการปล่อยชั่วคราวโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจทำการสอบสวนได้เสร็จภายในกำหนดสามเดือนจะยืดเวลาการปล่อยชั่วคราวให้เกินสามเดือนก็ได้ แต่มิให้เกินหกเดือน”ซึ่งมีความหมายว่าในระหว่างสอบสวน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีมีอำนาจปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวมีระยะเวลาอย่างสูงไม่เกินหกเดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาต่อไปอีกเท่านั้น สำหรับการสอบสวนหากมีความจำเป็นต้องทำให้เสร็จก็คงดำเนินการต่อไปได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ ส่วนมาตรา 113 วรรคสอง บัญญัติว่า”เมื่อการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปให้ส่งผู้ต้องหามาศาลและให้นำบทบัญญัติมาตรา 87 วรรคสี่ถึงวรรคเก้า มาใช้บังคับ”เห็นว่า แม้การไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 113 วรรคสองดังกล่าว ทำให้ผู้ต้องหาพ้นจากการควบคุม แต่ก็มิใช่บทบังคับให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจำต้องส่งผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาไว้เสมอไป เว้นแต่มีความเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาต่อไปอีก กรณีหาได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าการสอบสวนชอบหรือมิชอบแต่ประการใดไม่ นอกจากนี้การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังบัญญัติไว้ตามมาตรา 113 วรรคสอง ดังกล่าวก็หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน