คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายนำเช็คของจำเลยไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าให้นำเช็คมาเบิกเงินใหม่ต่อมาได้นำไปเข้าบัญชีอีกครั้ง ธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินอีกโดยอ้างว่าเกินข้อตกลง ดังนี้ ถือว่าผู้เสียหายได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก เมื่อผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันนั้นคดีที่ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ย่อมขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2510 เวลากลางวันจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนมีเงินในธนาคารไม่เพียงพออันจะพึงให้ใช้เงินได้ตามเช็ค ได้บังอาจออกเช็คธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด(สาขาเอกมัย) จำนวนเงิน 100,000 บาท ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2510สั่งจ่ายให้แก่ นางแฉล้ม สุวรรณประกร และห้างหุ้นส่วนจำกัดแฉล้มและบุตร ต่อมานางแฉล้ม สุวรรณประกร ได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินจากธนาคารเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2510 โดยนำเช็คนั้นไปเข้าบัญชีของตนที่ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด แต่ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัด ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค และส่งเช็คคืนในวันเดียวกันนั้นอ้างว่า “เกินข้อตกลง” โดยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชียังเป็นลูกหนี้ของธนาคารเกินกว่าที่ตกลงกันไว้กับธนาคาร การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการออกเช็ค โดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้และมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นโดยทุจริต ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2510 นางแฉล้ม สุวรรณประกร ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์มอบคดีให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความไว้แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

นางแฉล้ม สุวรรณประกร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว “คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมที่ธนาคารไทยพัฒนาจำกัด เพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาเอกมัย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่24 กรกฎาคม 2510 ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาเอกมัยปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าให้นำเช็คมาเบิกเงินใหม่ ครั้งที่ 2เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2510 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเอกมัยก็ปฏิเสธการจ่ายเงินอีก อ้างว่าเกินข้อตกลง ปัญหาจึงมีว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องการกระทำผิดของจำเลยเมื่อใด เพราะคดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ ถ้าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีของโจทก์เป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า แม้ในครั้งแรกที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชี ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยแจ้งว่าโปรดส่งมาเบิกเงินอีกครั้ง แต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายสมานรัตนปราโมทย์ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นสมุหบัญชีธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาเอกมัย ว่าในวันที่ 24 กรกฎาคม 2510 ซึ่งโจทก์ร่วมส่งเช็คมาเรียกเก็บเงินครั้งแรกนั้น บัญชีของจำเลยมีเงินไม่พอจ่ายในวันนั้นจำเลยยังเป็นลูกหนี้ธนาคารอยู่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทเศษแต่เนื่องจากจำเลยเป็นลูกค้าที่มีฐานะการเงินดีซึ่งอาจนำเงินมาเข้าบัญชีได้ทัน ธนาคารจึงแจ้งว่าโปรดส่งมาเบิกเงินอีกครั้ง แสดงว่าธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัดสาขาเอกมัย ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย มิฉะนั้นธนาคารก็จะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงเช็คตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 991 บัญญัติบังคับไว้ นอกจากนี้ยังได้ความต่อไปว่า ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2510 โจทก์ร่วมได้พบกับจำเลยที่สำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดพระนคร โจทก์ร่วมได้แจ้งให้จำเลยทราบว่า เช็คพิพาทธนาคารปฏิเสธกาาจ่ายเงิน จำเลยก็ขอผัดจะเอาเงินสดมาชำระให้โจทก์ร่วมในวันที่ 31 กรกฎาคม 2510 เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ร่วมรู้ดีว่าเช็คพิพาทยังขึ้นเงินไม่ได้ มิฉะนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่น่าจะยอมให้จำเลยผัดไปอีก โจทก์ร่วมนำเช็คไปขึ้นเงินเสียเองจะไม่ดีกว่าหรือ พฤติการณ์เป็นดังนี้ จึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วอย่างช้าในวันที่ 25 กรกฎาคม 2510 โจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2510 เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 การที่โจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทไปขึ้นเงินอีกครั้งในวันที่ 4 กันยายน 2510 แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกนั้น ไม่ทำให้อายุความเริ่มนับใหม่ เพราะเป็นความผิดอันเดียวกัน คดีไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นข้อโต้เถียงอื่น”

พิพากษายืน

Share