คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335 และ 357 ศาลชั้นต้นจดคำให้การจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ คำให้การฉบับนี้ย่อมไม่ชัดเจนว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใด แต่ในวันเดียวกันนั้นจำเลยยื่นคำให้การอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมทั้งหมดแล้วขอให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหาลักทรัพย์ตามมาตรา 334 เท่ากับจำเลยยังปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 และ 357 เมื่อโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันนั้น เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะสืบพยานในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และ 357 อีกต่อไปข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) วรรคแรก จึงไม่ถูกต้อง
การปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357

จำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “วันเกิดเหตุจำเลยไปรับซื้อมะม่วงที่บ้านของผู้เสียหายและขออนุญาตผู้เสียหายเข้าห้องน้ำ เมื่อกลับออกมาเห็นพระเครื่องเลี่ยมทองที่อยู่ในสร้อยคอหลายองค์ มีอยู่องค์หนึ่งซึ่งจำเลยประสงค์จะได้ จึงแกะเอาไปพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบดีว่าพระเลี่ยมทององค์ไหนมีราคา จำเลยจึงแกะเฉพาะพระที่มีราคาและตนประสงค์อยากได้เพียงองค์เดียว ทรัพย์ที่จำเลยลักไปมีราคาถึง 20,000 บาท จึงนับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษมานับเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่มากและไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357 ศาลชั้นต้นจดคำให้การจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์คำให้การฉบับนี้ย่อมไม่ชัดเจนว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใด แต่ในวันเดียวกันนั้นจำเลยยื่นคำให้การอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมทั้งหมดแล้วขอให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหาลักทรัพย์ตามมาตรา 334 เท่ากับจำเลยยังปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และ 357 เมื่อโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานและโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันนั้น เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะสืบพยานในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335และ 357 อีกต่อไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) วรรคแรกจึงไม่ถูกต้อง ซึ่งการปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share