คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในค่าซ่อมรถให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท และรับผิดในค่าเสื่อมราคาและในค่าไม่มีรถใช้ในการประกอบกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 รวมจำนวน 121,500 บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยกำหนดให้โจทก์ที่ 2 รับผิดในค่าซ่อมรถจำนวน 100,000 บาท ค่าเสื่อมราคาและค่าไม่มีรถใช้ในการประกอบกิจการค้ารวมจำนวน 30,000 บาท แล้ว แต่ในคำพิพากษากลับระบุให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดหลงไปเล็กน้อยชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยนั้นได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว กลับอุทธรณ์เฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยเท่านั้น ดังนี้ แม้ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่ 1ร่วมรับผิด และมิได้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อให้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยอีก เช่นนี้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย่อมไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ชอบที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสองเสีย แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา (ชั้นขอแก้ไขคำพิพากษา) และปรากฏว่าคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวมีข้อผิดหลงเล็กน้อยศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143

ย่อยาว

คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 506/2529 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน แต่คดีดังกล่าวไม่มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกา คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาในชั้นนี้เฉพาะคดีนี้

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1จำนวน 100,000 บาท ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลยแต่ละคน และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 506/2529ของศาลชั้นต้น

คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่จำเลยที่ 1จำนวน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งสอง และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง 3,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์ที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสื่อมราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์รวมเป็นเงินจำนวน 91,500 บาท จำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนค่าเสื่อมราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เป็นเงิน 30,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นกลับพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1จำนวน 100,000 บาท ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์ที่ 2 จะต้องรับผิดดังกล่าวด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลสั่งยกคำร้องไปแล้วและคดีนี้ได้มีการอุทธรณ์และได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้ว จึงล่วงเลยระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินการให้แล้วจึงให้ยกคำร้อง ส่วนจำเลยจะขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ไขให้ยื่นคำร้องเข้ามาใหม่

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในค่าซ่อมรถให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท และรับผิดในค่าเสื่อมราคาและในค่าไม่มีรถใช้ในการประกอบกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 รวมจำนวน 121,500บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยกำหนดให้โจทก์ที่ 2 รับผิดในค่าซ่อมรถจำนวน 100,000บาท ค่าเสื่อมราคาและค่าไม่มีรถใช้ในการประกอบกิจการค้ารวมจำนวน 30,000 บาทแล้ว แต่ในคำพิพากษากลับระบุให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดหลงไปเล็กน้อย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยนั้นได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ยื่นคำร้องลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 ขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวกลับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยเท่านั้น ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดด้วย โดยมิได้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยอีก คงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เช่นนี้ย่อมไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา และปรากฏว่าคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวมีข้อผิดหลงเล็กน้อยอยู่แล้วเช่นนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวเสีย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท และชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลยแต่ละคน และชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยแต่ละคน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share