คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในค่าซ่อมรถให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท และรับผิดในค่าเสื่อมราคาและในค่าไม่มีรถใช้ในการประกอบกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 รวมจำนวน121,500 บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยกำหนดให้โจทก์ที่ 2 รับผิดในค่าซ่อมรถจำนวน100,000 บาท ค่าเสื่อมราคาและค่าไม่มีรถใช้ในการประกอบกิจการค้ารวมจำนวน30,000 บาท แล้ว แต่ในคำพิพากษากลับระบุให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน100,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดหลงไปเล็กน้อย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยนั้นได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แต่จำเลยที่ 1และที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว กลับอุทธรณ์เฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยเท่านั้น ดังนี้ แม้ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิด และมิได้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวจำเลยทั้งสองก็มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อให้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยอีกเช่นนี้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย่อมไม่ชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 143 ชอบที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสองเสีย แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา(ชั้นขอแก้ไขคำพิพากษา) และปรากฏว่าคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 143

Share