คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคำนวณกำไรสุทธิ ในรอบระยะบัญชีปี พ.ศ. 2520 โจทก์หักค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเป็นเงินค่าธรรมเนียมการบริหารงานให้แก่บริษัทที่รับบริหารงานให้โจทก์ เป็นเงิน 3,798,000 บาทเจ้าพนักงานประเมินให้ถือเป็นรายจ่ายได้เพียง 300,000 บาทแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายทั้งหมดและมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มและเงินเพิ่มอีกรวม78,210.44 บาทนั้นเมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งจึงไม่ชอบที่จะพิจารณาในคดีนี้อีก
การที่ใบหุ้นสูญหายหาทำให้สิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้นระงับหรือหมดไปไม่ สิทธิในหุ้นของโจทก์มีอย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น ดังนี้โจทก์จะตีราคาหุ้นสำหรับใบหุ้นที่หายแล้วลงจำหน่ายเป็นหนี้สูญเพื่อคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ (9) หาได้ไม่
ค่าบริการเพิ่ม (INCENTIVEFEE) ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายให้แก่บริษัทที่รับบริหารงานให้โจทก์โดยมีข้อตกลงกันว่า โจทก์จะต้องจ่ายให้เป็นเงินจำนวนเท่ากับเงินที่โจทก์มีพอ หลังจากที่ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 30 ของทุนที่จดทะเบียนแล้วอันเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(19) จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1,501,096.10 บาท กับเงินเพิ่มอีก 300,214.22 บาท รวมเป็นเงิน1,801,315.32 บาท อ้างว่าโจทก์นำรายจ่ายอันมีลักษณะต้องห้ามมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ยอมให้นำค่าหลักทรัพย์สูญหาย 693,990 บาท มาคำนวณเป็นรายจ่าย ส่วนค่าธรรมเนียมในการบริหารงานจำนวน 3,498,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินยอมให้ถือเป็นรายจ่ายได้ 300,000 บาท แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายทั้งหมด และสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มสำหรับค่าธรรมเนียมจำนวนนี้เป็นเงิน78,210.44 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเงินเพิ่มลง 150,109.61 บาท รวมสั่งให้โจทก์เสียภาษีทั้งสิ้น 1,729,416.15 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

จำเลยให้การว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติม โจทก์จะนำเรื่องหลักทรัพย์สูญหายมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ ค่าธรรมเนียมการบริหารนั้นเป็นรายจ่ายที่กำหนดภายหลังจากการคำนวณกำไรสุทธิ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) ต้องนำกลับมารวมเป็นกำไรสุทธิ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์นำเงิน 3,798,000 บาท ไปเป็นรายจ่ายคำนวณกำไรสุทธิ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากาาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มและเงินเพิ่มอีกรวม 78,210.44 บาท และโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น โจทก์ได้ยื่นฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งจึงไม่ชอบที่จะพิจารณาในคดีนี้อีก

ในปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ (ใบหุ้น) ที่สูญหายคิดเป็นราคา 693,990 บาทนั้นเห็นว่า การที่ใบหุ้นสูญหายหาได้ทำให้สิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้นระงับหรือหมดไปไม่สิทธิในหุ้นของโจทก์มีอย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น เป็นแต่โจทก์ยังไม่สามารถที่จะขอให้บริษัทออกหุ้นใหม่ให้ได้ เนื่องจากไม่ทราบหมายเลขหุ้นที่หายดังคำเบิกความของนายวิทยาพยานโจทก์ สิทธิในหุ้นของผู้ถือหุ้นจะหมดไปก็เฉพาะแต่การโอนหรือเพราะเหตุการณ์บางอย่างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1132 ฉะนั้นโจทก์จะตีราคาหุ้นสำหรับใบหุ้นที่หายแล้วลงจำหน่ายเป็นหนี้สูญเพื่อคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทิว (9) หาได้ไม่

ส่วนปัญหาในเรื่องค่าธรรมเนียมในการบริหารงานที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด จำนวน 3,798,000 บาท ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีท จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม มาตรา 65 ตรี (19) นั้น ได้พิเคราะห์ความในข้อ 5ของหนังสือสัญญาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การตลาดและการจัดการตามเอกสารหมาย จ.8 แล้วปรากฏว่า ค่าตอบแทนซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด นั้น แยกออกเป็น 2 จำนวน คือ จำนวนหนึ่งโจทก์จะต้องจ่ายเป็นรายเดือนได้แก่ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด และค่าบริการจัดการ(Management fee) เป็นจำนวนอันสมควร อีกจำนวนหนึ่งได้แก่ค่าบริการเพิ่ม(Incentive fee) ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เป็นจำนวนเท่ากับเงินที่โจทก์มีพอหลังจากที่ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ30 ของหุ้นที่จดทะเบียนแล้ว เงินจำนวนหลังที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด นี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเงินจำนวน3,798,000 บาท นั้นเป็นเงินค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และค่าบริการจัดการ หรือเป็นค่าบริการเพิ่ม ซึ่งถ้าปรากฏว่าเป็นค่าบริการเพิ่มก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว

ข้อเท็จจริงในเรื่องเงินค่าตอบแทนตามความในข้อ 5 ของหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.8 นั้น ปรากฏจากคำให้การของนายวิทยาต่อเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย จ.16 ว่า ในปี พ.ศ. 2520 โจทก์จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด 5,475,000 บาท แต่อ้างว่าได้แยกเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ1,677,000 บาท ที่เหลืออีก 3,798,000 บาท เป็นค่าบริการจัดการศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัทโจทก์เพิ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 และปรากฏจากคำให้การของนายวิทยาในเอกสารหมาย จ.14 ว่าปี พ.ศ. 2517 โจทก์มีกำไรสุทธิเพียง 2,604.04 บาทปี พ.ศ. 2518 โจทก์ขาดทุนสุทธิ 76,047.23 บาท ปี พ.ศ. 2519 โจทก์ขาดทุนสุทธิ12,824.28 บาท ในปี พ.ศ. 2519 ที่ขาดทุนนี้โจทก์จ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าสำนักงาน39,600 บาท และตามคำฟ้องปรากฏว่าจ่ายเป็นค่าบริการจัดการ 120,000 บาท (เดือนละ 10,000 บาท) รวมเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เพียง 159,600 บาทเท่านั้น มิได้มีการจ่ายค่าบริการเพิ่มแต่ประการใด ทั้งนี้เนื่องจากโจทก์ขาดทุน แต่พอมาในปี พ.ศ. 2520 ปรากฏว่าโจทก์จ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด สูงถึง1,677,000 บาท โดยที่ไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์เลยว่า ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบแทนโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2520 เพิ่มขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2519 มากน้อยเพียงไร จึงต้องถือหรือเป็นที่เข้าใจได้ว่า ค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สำหรับปี พ.ศ. 2520 น่าจะไม่แตกต่างไปจากปีพ.ศ. 2519 เมื่อคิดหักค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับปีพ.ศ. 2519 ออกแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นค่าบริการจัดการไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100,000 บาทจึงเชื่อได้ว่าเงิน 1,677,000 บาท นั้นเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายอื่น ๆรวมทั้งค่าบริการจัดการ (Management fee) ตามความในข้อ 5 ของหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.8 ดังนั้น เงินจำนวน 3,798,000 บาท จึงต้องเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าบริการเพิ่ม (Incentive fee) และโดยที่ความในข้อ 5 ของหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.8 กำหนดให้จ่ายจากเงินที่โจทก์มีพอหลังจากที่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 30 เงินจำนวนดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการในการคำนวณกำไรสุทธิ ตาม มาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

พิพากษาแก้ เป็นให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เฉพาะส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์หักภาษีเพิ่มและเงินเพิ่ม 78,210.44 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share