คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้นำเข้าแผ่นอะลูมิเนียมเคลือบสารไวแสงหรือแผ่นเพลทสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ โดยกรรมวิธีในการทำภาพให้ปรากฏบนแผ่นเพลทดังกล่าวจะต้องใช้ฟิล์มโพสซิติป ทาบกับแผ่นเพลท แล้วปิดด้วยกระจกอัดแน่นโดยใช้วิธีดูด เพื่อให้ฟิล์มสนิทแน่นกับแผ่นเพลท จากนั้นก็จะฉายแสงอุลตร้าไวโอเลต ผ่านฟิล์มนั้นและนำแผ่นเพลท ไปล้างด้วยสารละลายที่เป็นด่าง ก็จะปรากฏภาพบนแผ่นเพลท ที่จะนำไปใช้เป็นแม่พิมพ์ได้ แผ่นเพลท ที่จำเลยนำเข้าจึงมิใช่ฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ไม่ได้รับการลดอัตราอากรขาเข้าจากร้อยละ 40 ลงเหลือร้อยละ 10 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2515 ลงวันที่ 7กรกฎาคม 2515 ที่ใช้บังคับในขณะนำเข้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งและนำแผ่นเพลทที่เคลือบด้วยสารไวแสงสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าสินค้ามีราคา141,979.11 บาท เป็นสินค้าพิกัดประเภทที่ 37.01 ข. อัตราอากรร้อยละ40 ลดเหลือร้อยละ 10 คิดเป็นอากรขาเข้า 14,197.91 บาท ภาษีการค้า2,940.03 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 294 บาท รวมเป็นเงิน 17,431.94 บาทต่อมาพนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวมิใช่ฟิล์มสำหรับทำแม่พิมพ์ อันเป็นสินค้าที่ได้รับการลดหย่อนอัตราอากรข้างต้นตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 4/2515 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2515แต่เป็นวัตถุอื่นที่เป็นแผ่นซึ่งไวต่อแสงและยังมิได้ถ่าย โจทก์จึงประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ40 คิดเป็นเงินค่าอากร72,486.81 บาท ภาษีการค้า 50,123.36 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 5,041.15บาท เมื่อนำภาษีอากรที่จำเลยชำระไว้ก่อนแล้วมาหักออก จำเลยคงชำระขาดไป คืออากรขาเข้า 58,288.80 บาท ภาษีการค้า 47,183.33 บาทภาษีบำรุงเทศบาท 4,718.33 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและให้นำเงินที่ขาดมาชำระ จำเลยมิได้ชำระในกำหนด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรที่ค้างรวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน 51,901.66 บาท รวมเป็นเงิน162,092.12 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ค้างรวมทั้งเงินเพิ่มดังกล่าว กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินค่าอากรที่ค้างจำนวน 110,190 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สินค้าดังกล่าวเป็นแผ่นฟิลม์เคลือบสารไวแสงใช้ทำแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 37.01 ข. ซึ่งได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 40 ลงเหลือร้อยละ 10 เป็นเงินค่าภาษีทั้งสิ้น 17,431.94 บาท จำเลยชำระเงินดังกล่าวไปครบถ้วนและถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็ได้ตรวจปล่อยสินค้านั้นแล้ว ถ้าเป็นเรื่องคำนวณตัวเลขเว้นอากรคลาดเคลื่อนซึ่งมีอายุความเรียกร้อง 2 ปี คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สินค้ารายพิพาทเป็นฟิลม์สำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 37.01 ข. จำเลยได้รับการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าภาษีอากรเพิ่มรวมทั้งเบี้ยปรับ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่าสินค้ารายพิพาทเป็นอะลูมิเนียมเคลือบสารไวแสงเป็นประเภทและชนิดเดียวกับแผ่นอะลูมิเนียมที่โจทก์อ้างส่งเป็นวัตถุพยานต่อศาล คงมีปัญหาที่โต้เถียงกันเพียงประการเดียวว่าแผ่นอะลูมิเนียมดังกล่าวเป็น “ฟิลม์สำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์” ตามบัญชีต่อท้ายประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 4/2515 ลงวันที่ 7กรกฎาคม 2515 เรื่อง การลดอัตราอากรศุลกากร ตามเอกสารหมาย จ.2ซึ่งให้ลดอัตราอากรจากอัตราปกติร้อยละ 40 ลงเหลือร้อยละ 10ใช่หรือไม่ ได้ความว่าบัญชีต่อท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวอ้างถึงพิกัดอัตราศุลกากรขาเข้าประเภทที่ 37.01 ข. ซึ่งตามพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ขณะพิพาทกันในคดีนี้ประเภทที่ 37.01 ได้ระบุว่าได้แก่กระจกหรือวัตถุอื่นที่เป็นแผ่นซึ่งไวต่อแสง และยังมิได้ถ่าย รวมทั้งฟิล์มแผ่นด้วย โดยแยกเป็น2 ประเภท ประเภท ก. สำหรับใช้ในการเอ็กซเรย์ ประเภท ข. อื่น ๆซึ่งแปลความหมายได้ว่าประเภท ข. หมายถึงกระจกหรือวัตถุอื่นที่เป็นแผ่น ซึ่งไวต่อแสง และยังไม่ได้ถ่าย รวมทั้งฟิล์มแผ่นที่ไม่ได้ใช้ในการเอ็กซเรย์ สินค้าตามพิกัดประเภทที่ 37.01 ข.ทั้งสามประเภทดังกล่าวนี้นายแสงชัย ปิยะถิรกุล เจ้าหน้าที่ประเมินระดับ 4 กองพิกัดอัตราศุลกากร พยานโจทก์ อธิบายว่า ฟิลม์อย่างอื่นนั้นจัดอยู่ในประเภท ข. ปัญหาจึงมีต่อไปว่า คำว่า “ฟิลม์” ตามที่ระบุไว้ในพิกัดประเภที่ 37.01 ข. และซึ่งประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 4/2515 ดังกล่าวประกาศลดอัตราอากร “ฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์” นั้น หมายถึงสินค้าประเภทใด ได้ความจากนายแสงชัยพยานโจทก์ว่า คำว่า “ฟิล์ม” ตามความหมายโดยทั่ว ๆ ไปได้แก่แผ่นพลาสติกบางซึ่งเคลือบด้วยสารไวแสงโดยอ้างถึงที่มาของความหมายดังกล่าวคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ส่วนอีกความหมายหนึ่งรองศาสตรจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ พยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้ขอให้มาให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ให้ความเห็นว่า คำว่า”ฟิล์ม” เป็นคำกว้าง แม้แต่เยื่อไม้ลอกออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ ก็เรียกว่าฟิล์ม หรือน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำก็เรียกว่าฟิล์ม สิ่งใดที่เป็นชั้นบาง ๆ ฝรั่งจะเรียกว่า ฟิล์มทั้งหมด แต่ก็ได้ความจากรองศาสตราจารย์ศักดาต่อไปว่า วัตถุพยานตามโจทก์ส่งต่อศาล เรียกว่าแม่พิมพ์หรือเพลทซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เอสเพลท กรรมวิธีในการทำภาพให้ปรากฏในเพลทดังกล่าวจะต้องใช้ฟิล์มโพสซิติปทาบกับแผ่นเพลท แล้วปิด้วยกระจกอัดแน่นโดยใช้วิธีดูดลมเพื่อให้ฟิล์มสนิทแน่นกับแผ่นเพลทจากนั้นก็จะฉายแสงอุลตร้าไวโอเลตผ่านฟิล์มนั้นและนำแผ่นเพลทไปล้างด้วยสารละเลยที่เป็นด่างก็จะปรากฏภาพ จากนั้นจึงจะนำไปเป็นแม่พิมพ์โดยใช้น้ำคลึงที่แผ่นเพลท และใช้หมึกมีลูกกลิ้งซึ่งเรียกว่าโมหมึกแล้วนำไปพิมพ์ได้เลย กรรมวิธีตามที่รองศาสตราจารย์ศักดาผู้เชี่ยวชาญทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ให้ความเห็นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสินค้ารายพิพาทซึ่งจำเลยรับว่าเป็นชนิดเดียวกับวัตถุพยานโจทก์อ้างส่งต่อศาลและจำเลยรับว่าเป็นอะลูมิเนียมเคลือบสารไวแสงนั้นก็คือแผ่นเพลทตามความเห็นของรองศาสตราจารย์ศักดานั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณาความหมายของคำว่าฟิลม์ตามคำเบิกความของนายแสงชัยพยานโจทก์หรือตามความเห็นของรองศาสตราจารย์ศักดาก็ไม่อาจ จะถือว่าแผ่นโลหะเคลือบสารไวแสงเป็นฟิล์มไปได้ดังจำเลยกล่าวอ้าง ตรงข้ามจะเห็นได้ชัดว่าแผ่นเพลทที่จะนำไปทำเป็นแม่พิมพ์ได้นั้นจะต้องใช้ฟิล์มซึ่งมีภาพหรือตัวอักษรตามต้องการมาทำให้เกิดภาพในแผ่นเพลทที่ปรากฏในวัตถุพยาน ดังนั้นแผ่นอะลูมิเนียมเคลือบสารไวแสงที่พิพาทกันในคดีนี้จึงไม่ใช่ฟิลม์ตามความหมายของประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 4/2515 ดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการคลังเองก็ได้แยกสินค้าประเภทฟิล์ม และแผ่นเพลทไว้อย่างชัดแจ้ง กล่าวคือในการประกาศลดอัตราอากรเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 4/2515 นั้นได้ระบุว่า การลดอัตราอากรพิกัดประเภทที่ 37.01 ข. เฉพาะ “ฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์” ประกาศดังกล่างลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2515แล้วต่อมาจึงได้มีประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.3/2522 เรื่องยกเลิกการลดและลดอัตราอากรศุลกากร โดยระบุถึงพิกัดประเภทที่ 37.01ข. เพิ่มเติมอีกว่า “เฉพาะแผ่นสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์” ประกาศฉบับหลังลงวันที่ 17 เมษายน 2522 จะเห็นได้ว่าถ้าหากประกาศฉบับแรกที่ว่าฟิล์มสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์ มีความหมายรวมถึงแผ่นสำหรับใช้ในการทำแม่พิมพ์แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่กระทรวงการคลังจะต้องประกาศฉบับหลังออกมาอีก เป็นดังนี้ สินค้ารายพิพาทของจำเลยจึงไม่อยู่ในข่ายได้รับการลดหย่อนค่าอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 4/2515 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระอากรขาเข้าสำหรับสินค้ารายพิพาทในอัตราร้อยละ 40 โดยไม่ได้มีการลดหย่อน โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระอากรในส่วนที่ขาดคือ อากรขาเข้า 58,288.80 บาท ภาษีการค้า47,183.33 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 4,718.33 บาท และเงินเพิ่ม 51,901.66บาท ดังโจทก์ฎีกาส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งโจทก์ขอมาตามฟ้องด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อประมวลรัษฎากรและพระราชบัญญัติศุลกากรฯ บัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มตามส่วนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ในกรณที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระภาษีที่ค้างชำระไว้อยู่แล้ว ดังนั้นโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เอากับลูกหนี้ในระหว่างผิดนัดซ้ำอีกหาได้ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระอากรขาเข้า 58,288.80 บาท ภาษีการค้า47,183.33 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 4,718.33 บาท และเงินเพิ่ม 51,901.66บาทรวม 162,092.12 บาทให้แก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งศาลเป็นพับ”.

Share