แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกับพวกบุกรุกตึกแถวพิพาท และทำให้เสียทรัพย์โดยทุบทำลายส่วนต่าง ๆ ของตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยกระทำละเมิดโดยเข้าไปครอบครองและทุบทำลายตึกแถวพิพาทได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง คดีนี้จึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 46 จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์
เมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตาม ป.อ.จึงต้องใช้อายุความทางอาญาซึ่งยาวกว่ามาบังคับ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคสอง ซึ่งตามบทมาตราที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำผิดอาญานั้น มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.อ.มาตรา 95 (3)
ปัญหาว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยต่างนำสืบโต้แย้งกันจนไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้เช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้
จำเลยไม่ได้นำ ส.และ ม.เข้าเบิกความเป็นพยานภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ประกอบกับโจทก์ได้อ้างส่งคำเบิกความของพยานทั้ง 2 ปาก ที่ได้เบิกความไว้ในคดีอาญาเป็นพยานต่อศาล ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของคำเบิกความดังกล่าว อีกทั้งจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะสืบพยาน2 ปากนี้ในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าพยานทั้ง 2 ปาก เป็นเพียงผู้ที่เข้าไปทำการรื้อถอนตึกแถวพิพาทของโจทก์ มิใช่เป็นผู้ที่ทำการซ่อมแซมตึกแถวพิพาทจึงไม่สมควรที่จะนำมาเป็นพยานในการประเมินค่าเสียหาย ทั้งยังเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นแก่คดีด้วย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว