คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองที่ดินโดยอาศัยสิทธิของโจทก์การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยื่นคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2และเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียกโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2ไปไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 และที่ 2ก็ยืนยันต่อโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินว่า เป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่ครอบครองที่ดินนั้นแทนโจทก์ต่อไปถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้นไว้แทนโจทก์มาเป็นยึดถือเพื่อตนเองแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา จึงเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินนั้น โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 เกิน 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครองโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายจัน และนางวัน มีแสงซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว โดยก่อนบิดามารดาโจทก์ถึงแก่กรรม บิดาโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 232 หลังจากบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมโจทก์เข้ารับมรดกครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดามารดาไม่ขาดสายได้ยื่นเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกได้ทำการรังวัดเมื่อปี 2526 เพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนางเรือง กรีรัตน์ ซึ่งอาศัยสิทธิของโจทก์และบิดามารดาโจทก์ปลูกเรือนอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ทางราชการจึงงดไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ ทางราชการได้ทำการไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ ขอให้เพิกถอนคำขอของจำเลยที่ 1และที่ 2 ที่คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 3ดำเนินการสอบสวนรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีก
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 แย่งการครอบครองตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2526แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบกันว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 232 หมู่ที่ 11 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 15) ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลกจังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ปรากฏตามสำเนาส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 เดิมเป็นของนายจัน มีแสง บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อปี 2524 ต่อมาปี 2526 โจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกครั้นวันที่ 7 มีนาคม 2526 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนตลอดมาตั้งแต่นายจันยังไม่ถึงแก่กรรมโดยจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินภายในเส้นสีแดง จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินภายในเส้นสีน้ำเงินตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การ ได้ยื่นคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินภายในเส้นสีแดงและสีน้ำเงินเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2ตามลำดับ โดยนายจันได้ยกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่นายจันยังไม่ถึงแก่กรรมรายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำขอคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 จ.4 ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2526เจ้าพนักงานที่ดินเรียกโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไกล่เกลี่ยโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของโจทก์แล้วโจทก์จะจัดแบ่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามส่วนที่ครอบครองในภายหลัง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยินยอม จึงตกลงกันไม่ได้รายละเอียดปรากฏตามบันทึกถ้อยคำโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2เอกสารหมาย ล.1 ล.2 และ ล.3 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินภายในเส้นสีแดงและสีน้ำเงินตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การเป็นของโจทก์รับมรดกมาจากนายจันบิดาของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยนายจันอนุญาตให้เข้าอยู่อาศัยและเมื่อนายจันถึงแก่กรรมแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของโจทก์นั้น ถึงหากจะฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นดังฎีกาของโจทก์ดังกล่าวก็ต้องถือว่าการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยื่นคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินภายในเส้นสีแดงและสีน้ำเงินเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับและเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียกโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยืนยันต่อโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินภายในเส้นสีแดงและสีน้ำเงินเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับนั้น เป็นการแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่ครอบครองที่ดินนั้นแทนโจทก์ต่อไปข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้นไว้แทนโจทก์มาเป็นยึดถือเพื่อตนเองแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาจึงเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่12 พฤษภาคม 2530 เกิน 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสองและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาอื่นอีก”
พิพากษายืน

Share