คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4113/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 เป็นเรื่องในชั้นสอบสวนของพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกำหนดไม่ได้ เว้นแต่จะขออำนาจศาลฝากขังเป็นระยะๆ ไป และเป็นคนละส่วนกับเรื่องการฟ้องโดยจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาล หากได้ความว่าจำเลยถูกควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวเอากับผู้ที่ควบคุมตัวโดยไม่ชอบเหล่านั้น หากทำให้กระบวนการสอบสวนที่ชอบและการนำคดีมาฟ้องยังศาลเสียไปไม่ ทั้งหากมีการควบคุมตัวเกินกำหนดก็ไม่ต้องห้ามที่พนักงานอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาลโดยวิธีจับตัวมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจศาลที่จะยกฟ้องคดีเช่นนี้ได้ คงมีแต่ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้มีผู้กล่าวอ้างเอาประโยชน์จากากรควบคุมตัวเกินกำหนดได้ยิ่งไปกว่าการสอบสวนที่ชอบและการพิจารณาที่กระทำโดยศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยใช้ไขควงและมีดงัดประตูบ้านจนกลอนประตูหลุดออก อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ แล้วจำเลยเข้าไปในบ้านพักอาศัยอันเป็นเคหสถานของนางสาวสุมาลี ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วลักสายไฟฟ้าทองแดงน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ราคา 1,800 บาท ท่อทองแดงที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ราคา 240 บาท สายไฟฟ้าน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ราคา 360 บาท และเครื่องปรับอากาศราคา 10,000 บาท รวมเป็นราคาทั้งสิ้น 12,400 บาท ของผู้เสียหาย ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในเคหสถานดังกล่าวไป ในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิดและพาทรัพย์ของผู้เสียหายไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยลักไป มีดคัทเตอร์ ไขควงและตะไบเหล็กที่จำเลยใช้กระทำความผิดและรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน คพต เชียงใหม่ 166 ที่จำเลยใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด เครื่องปรับอากาศสายไฟฟ้าทองแดง สายไฟฟ้า และท่อทองแดง ของกลางผู้เสียหายรับคืนไปแล้วส่วนรถจักรยานยนต์เป็นของบุคคลอื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดได้จัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 แล้ว จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 1 ปี ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7708/2545 ของศาลชั้นต้น ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษดังกล่าว จำเลยมากกระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 92, 335, 336 ทวิ ริบมีดคัทเตอร์ ไขควง และตะไบเหล็ก ของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3), 336 ทวิ (ที่ถูกคือ ตามมาตรา 335 (3) (8) วรรคสอง, 336 ทวิ) จำคุก 6 ปี เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบมีดคัทเตอร์ ไขควงและตะไบเหล็ก ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 4 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 4 ปี 16 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2549 เป็นเวลา 86 วัน เกินกว่าที่ต้องถูกควบคุมตัวจริง 84 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 อยู่ 2 วัน ขอให้ยกฟ้องนั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องในชั้นสอบสวนของพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกำหนดไม่ได้เว้นแต่จะขออำนาจศาลศาลฝากขังเป็นระยะๆ ไป และเป็นคนละส่วนกับเรื่องการฟ้องโดยจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาลหากได้ความว่าจำเลยถูกควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวเอากับผู้ที่ควบคุมตัวโดยไม่ชอบเหล่านั้น หาทำให้กระบวนการสอบสวนที่ชอบและการนำคดีมาฟ้องยังศาลเสียไปไม่ ทั้งหากมีการควบคุมตัวเกินกำหนดก็ไม่ต้องห้ามที่พนักงานอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาลโดยวิธีจับตัวมาส่งศาลพร้อมฟ้องได้ รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจศาลที่จะยกฟ้องคดีเช่นนี้ได้คงมีแต่ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้มีผู้กล่าวอ้างเอาประโยชน์จากการควบคุมตัวเกินกำหนดได้ยิ่งไปกว่าการสอบสวนที่ชอบและการพิจารณาที่กระทำโดยศาล ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ โดยมิต้องสืบพยานประกอบเช่นนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษตามคดีหมายเลขแดงที่ 7708/2545 ของศาลชั้นต้น และจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550และได้พ้นโทษไปก่อนแล้วหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น โทษจำคุกของจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษนั้น จำเลยต้องโทษและได้พ้นโทษไปก่อนแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 4 ปี ไม่เพิ่มโทษจำเลย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share