คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อจำเลยนำเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงไปฝากธนาคารออมสินในวันที่ 7 กันยายน 2541 จึงถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนที่ดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น วันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจึงเป็นวันที่ 7 กันยายน 2541 มิใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยอ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 49,693,003.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงิน 41,846,749 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า มีการออกสำรวจพื้นที่ตามสภาพที่เป็นอยู่โดยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไร่ละ 2,000,000 บาท ที่ดินของโจทก์ไม่อยู่ในย่านธุรกิจสำคัญมีราคาไม่ถึงตารางละ 100,000 บาท โจทก์ไม่ได้เสียหายจริง ไม่ได้ขาดรายได้ดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ขอค่าเสียหายเป็นเงินถึง 30,000,000 บาท เป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่แน่ว่าโจทก์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเหลือที่ดินที่สามารถดำเนินธุรกิจเดิมได้อีกต่อไป ส่วนค่ารื้อถอนที่ดินนั้นจำเลยทั้งสามคำนวณโดยอาศัยราคาวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันตามราคาท้องถิ่น ซึ่งเป็นราคาที่เป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 2,775,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ตามอัตราการขึ้นลงตามระยะเวลาตามประกาศของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (วันฟ้อง 26 กรกฎาคม 2542) ต้องไม่เกิน 7,846,236.60 บาท ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าทดแทนราคาที่ดินจำนวน 3,330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ตามอัตราขึ้นลงตามระยะเวลาตามประกาศของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาประการแรกว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้แก่โจทก์ตารางละ 30,000 บาท เป็นธรรมต่อโจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมหรือไม่ เห็นว่า การจ่ายเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม” ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวทุกอนุมาตราประกอบกัน แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เท่ากันตารางละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินสูงสุดขณะนั้นเป็นหลักสำคัญ ต่อมาเมื่อโจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีมติเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางละ 10,000 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้ง 2 ครั้ง ไม่เท่ากัน โดยไม่มีรายละเอียดว่าเหตุใดจึงกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตามอัตราดังกล่าว ส่วนโจทก์สืบถึงราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 188, 39150 และ 40546 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ติดถนนนิเวศรัตน์ ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 700 เมตร ที่ธนาคารออมสินซื้อจากนายสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 ในราคาตารางวาละ 40.426 บาท ตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ ประกอบสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เห็นว่า แม้การซื้อที่ดินรายนี้เกิดขึ้นภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ กว่า 4 ปี และผู้ซื้อคือธนาคารออมสินซึ่งไม่อาจนำเอาราคาที่จดทะเบียนซื้อขายกันดังกล่าวมาเป็นราคาซื้อขายกันตามปกติของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เลยทีเดียวก็ตามแต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่า ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของที่ดินที่ติดถนนนิเวศรัตน์ระยะ 20 เมตร ตามบัญชีราคาประเมินที่ดินที่ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ตารางวาละ 5,000 บาท ซึ่งมีที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และที่ดินที่ธนาคารออมสินซื้อไว้ดังกล่าวรวมอยู่ด้วยตามสำเนาบัญชีราคาประเมินที่ดินนั้น ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดมาก นอกจากนี้ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ดังกล่าวมีด้านหนึ่งอยู่ติดถนนนิเวศรัตน์แล้วยังมีอีกด้านหนึ่งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินสายบัวใหญ่-ชัยภูมิ ทั้งได้มีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากที่ดินทั้งสองแปลงประกอบธุรกิจการค้าเป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีราคาสูงกว่าที่ดินเปล่าที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ตามศักยภาพของที่ดิน เมื่อพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ดังกล่าวประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธาณูปโภคด้วย ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนที่กระทบต่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื่อเพลิงของโจทก์ด้วยแล้ว เห็นว่า อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพิ่มให้แก่โจทก์เป็นอัตราตารางวาละ 30,000 บาท นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้วแต่อย่างไรก็ตามโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ตารางละ 5,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นตามคำขอตามฟ้องโจทก์อีกตารางละ 25,000 บาท เนื้อที่ 111 ตารางวา เป็นเงิน 2,775,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเต็มอัตราตารางวาละ 30,000 บาท เนื้อที่ 111 ตารางวาเป็นเงิน 3,330,000 บาท โดยไม่ได้หักอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 5,000 บาท ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แล้วและได้แจ้งให้โจทก์ไปรับได้ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ทั้งโจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้นั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์ตารางวาละ 5,000 บาท นั้น เป็นการวินิจฉัยเพิ่มให้ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีแล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มให้นี้พร้อมดอกเบี้ยไปจากฝ่ายจำเลยในชั้นนี้จึงไม่นำเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์มาหักออกจากอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยให้แก่โจทก์แต่หากภายหลังปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินในสวนที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มให้ไปแล้วก็ต้องนำมาหักจากยอดเงินที่ศาลฎีกาคณะคดีปกครองพิพากษาให้ในชั้นบังคับคดี ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” ดังนั้น จึงต้องเป็นไปตามตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเงินค่าทดแทนราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นนั้นเมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนที่ดินในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่จะให้ดอกเบี้ยเกินอัตราที่โจทก์ขอไม่ได้ ได้ความว่า จำเลยทั้งสามนำเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงไปฝากธนาคารออมสินในวันที่ 7 กันยายน 2541 ตามสำเนาสมุดเงินฝากธนาคารออมสิน จึงถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น วันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจึงเป็นวันที่ 7 กันยายน 2541 มิใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้อีก 2,775,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลให้ศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาแทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share