แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่2นำรถยนต์บรรทุกไปจอดใกล้กับทางรถไฟแม้จะอยู่ในบริเวณลานจอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวิญญูชนย่อมจะต้องคาดหมายว่าเมื่อรถไฟแล่นมาตามรางจะต้องมีระยะที่ปลอดจากสิ่งกีดขวางพอสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเฉี่ยวชนก้นพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522มาตรา57(8)จึงบัญญัติว่าห้ามมิให้จอดรถห่างจากทางรถไฟน้อยกว่า15เมตรแต่จำเลยที่2มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคลอื่นเมื่อจำเลยที่2นำรถไปจอดในที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นระยะ2เมตรหรือ1เมตรก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา422ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่2เป็นผู้ผิดกรณีฟังได้ว่าจำเลยที่2ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วและเป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่1ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา425ส่วนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้นจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา223วรรคหนึ่ง,438วรรคหนึ่งและ442ปรากฎว่าก่อนเกิดเหตุพนักงานขับรถไฟขับรถไฟมาด้วยความเร็วประมาณ15กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อแล่นพ้นทางโค้งเห็นบริเวณที่จอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีรถยนต์บรรทุกจอดอยู่หลายคันแต่มีรถยนต์คันที่เกิดเหตุจอดอยู่ใกล้ทางรถไฟมากกว่าค้นอื่นพนักงานขับรถไฟคงขับรถไฟด้วยความเร็วเท่าเดิมต่อไปส่วนช่างเครื่องที่ไปด้วยก็เห็นรถยนต์จอดในระยะประมาณ20เมตรเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะประมาณ10เมตรเห็นว่าไม่อาจขับรถผ่านไปได้โดยไม่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกันช่างเครื่องได้ร้องบอกแก่พนักงานขับรถไฟพนักงานขับรถไฟจึงเปิดหวีดอันตรายพร้อมกับปิดคันบังคับการและลงห้ามล้อฉุกเฉินแต่ไม่อาจหยุดรถไฟได้ทันทีจึงเกิดเหตุขึ้นซึ่งในภาวะเช่นนั้นพนักงานขับรถไฟย่อมจะต้องคาดหมายได้ว่าอาจจะเกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่อย่างผิดปกติตั้งแต่เมื่อขับรถไฟผ่านโค้งมาแล้วปกติรถไฟที่ใช้ความเร็ว15กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะมีระยะเบรกที่สามารถหยุดรถได้ประมาณ50เมตรในวิสัยของผู้มีหน้าที่ขับรถไฟอยู่ในเส้นทางดังกล่าวมาประมาณ3ปีก่อนเกิดเหตุเช่นพนักงานขับรถไฟที่เกิดเหตุย่อมจะต้องทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกแล่นเข้าออกอยู่เป็นประจำและพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุก็เป็นเวลา18นาฬิกาเศษน่าจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นการที่พนักงานขับรถไฟขับรถไฟในอัตราความเร็วเท่าเดิมจนถึงระยะที่ไม่อาจหยุดรถก่อนจะถึงที่เกิดเหตุได้ถือว่าพนักงานขับรถไฟมีความประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยส่วนหนึ่งแต่อย่างไรก็ตามความเสียหายที่ด้านซ้ายของรถไฟมีเพียงเล็กน้อยที่ตะแกรงหน้าแสดงว่าการที่จำเลยที่2นำรถไปจอดนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะที่กีดขวางทางรถไฟอย่างชัดแจ้งจะคาดหวังให้พนักงานขับรถไฟต้องดำเนินการตามขั้นตอนการหยุดรถตั้งแต่แรกเห็นย่อมจะไม่ได้พนักงานขับรถไฟจึงมีเพียงเล็กน้อยจำเลยที่2มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าเพราะรถไฟแล่นมาตามรางซึ่งเป็นทางบังคับเป็นหน้าที่ของผู้นำรถบรรทุกไปจอดจะต้องระมัดระวังกว่าในส่วนของความประมาทเลินเล่อของศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองรับผิดสองในสามส่วนของความเสียหายทั้งหมด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 นางจ้างไปในทางการที่จ้างหรือในกิจการของจำเลยที่ 1ด้วยความประมาทโดยถอนหลังรถยนต์บรรทุกเพื่อเข้าจอดใกล้กับทางรถไฟ อันเป็นการกีดขวางทางเดินขบวนรถไฟของโจทก์ ซึ่งในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ขับเคลื่อนขบวนรถไฟเข้ามาห่างจากรถยนต์บรรทุกดังกล่าวประมาณ 50 เมตร เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไว้เปิดหวีดอันตรายพร้อมทั้งห้ามล้อฉุกเฉินเพื่อจะหยุดขบวนรถไฟ แต่เนื่องจากเป็นระยะกระชั้นชิด ทำให้ขบวนรถไฟเลื่อนไหลเข้าไปชนรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นเหตุให้หม้อสูบเครื่องห้ามล้อด้านซ้ายแคร่ที่ 1ของรถจักรดีเซล ซึ่งลากจูงขบวนรถไฟมาได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ต้องเปลี่ยนหม้อสูบเครื่องห้ามล้อ 1 ล้อ เป็นเงิน 49,068.68 บาทจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 52,748.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 49,068.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ดังกล่าวไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท เหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกี่ยวข้องกับที่โจทก์กล่าวอ้างค่าเสียหายที่เกิดขึ้นสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน52,748.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 49,068.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความเสียหายของหม้อสูบเครื่องห้ามล้อรถจักรเกิดจากการเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1
ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเพียงใดนั้น ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดีเสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” การที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกไปจอดใกล้กับทางรถไฟ แม้จะอยู่ในบริเวณลานจอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวิญญูชนย่อมจะต้องคาดหมายว่าเมื่อรถไฟแล่นมาตามรางจะต้องมีระยะที่ปลอดจากสิ่งกีดขวางพอสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกัน พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 57(8) จึงบัญญัติว่า ห้ามมิให้จอดรถห่างจากทางรถไฟน้อยกว่า 15 เมตร แต่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องบุคคล เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 นำรถไปจอดในที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นระยะ 2 เมตร ดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบ หรือ 1 เมตร ดังที่โจทก์นำสืบก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผิด กรณีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วและเป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา 425 ส่วนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น มาตรา 438วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”มาตรา 442 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 223วรรคหนึ่ง 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร” ตามคำเบิกความของนายสุชีพพนักงานขับรถไฟว่าเกิดเหตุขับรถไฟมาด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เมื่อแล่นพ้นทางโค้งเห็นบริเวณที่จอดรถของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีรถยนต์บรรทุกจอดอยู่หลายค้นแต่มีรถยนต์คันที่เกิดเหตุจอดอยู่ใกล้ทางรถไฟมากกว่าค้นอื่น พยานคงขับรถไฟด้วยความเร็วเท่าเดิมต่อไป ส่วนนายประชาช่างเครื่องที่ไปด้วยก็เห็นรถยนต์จอดในระยะประมาณ 20 เมตรเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะประมาณ 10 เมตร พยานทั้งสองจึงเห็นว่าไม่อาจขับผ่านไปได้โดยไม่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกัน นายประชาได้ร้องบอกแก่นายสุชีพ นายสุชีพจึงเปิดหวีดอันตรายพร้อมกับบิดคันบังคับการและลงห้ามล้อฉุกเฉิน แต่ไม่อาจหยุดรถไฟได้ทันทีจึงเกิดเหตุขึ้นเห็นว่า ในภาวะเช่นนั้นนายสุชีพย่อมจะต้องคาดหมายได้ว่าอาจจะเกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่อย่างผิดปกติตั้งแต่เมื่อรถไฟผ่านโค้งมาแล้ว ซึ่งตามคำเบิกความของนายสุชีพตอนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า ปกติรถไฟที่ใช้ความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีระยะเบรกที่สามารถหยุดรถได้ประมาณ 50 เมตรในวิสัยของผู้มีหน้าที่ขับรถไฟอยู่ในเส้นทางดังกล่าวมาประมาณ 3 ปีก่อนเกิดเหตุเช่นนายสุชีพย่อมจะต้องทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกแล่นเข้าออกอยู่เป็นประจำ และพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุก็เป็นเวลา 18 นาฬิกาเศษน่าจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น การที่นายสูชีพขับรถไฟในอัตราความเร็วเท่าเดิมจนถึงระยะที่ไม่อาจหยุดรถก่อนจะถึงที่เกิดเหตุได้ ถือว่านายสุชีพมีความประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ด้านซ้ายของรถไฟมีเพียงเล็กน้อยที่ตะแกรงหน้า แสดงว่าการที่จำเลยที่ 2 นำรถไปจอดนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะที่กีดขวางทางรถไฟอย่างชัดแจ้ง จะคาดหวังให้นายสุชีพต้องดำเนินการตามขั้นตอนการหยุดรถตั้งแต่แรกเห็นย่อมจะไม่ได้เพราะรถไฟแล่นมาตามรางซึ่งเป็นทางบังคับเป็นหน้าที่ของผู้นำรถบรรทุกไปจอดจะต้องระมัดระวังมากกว่าในส่วนความประมาทเลินเล่อของนายสุชีพจึงมีเพียงเล็กน้อยจำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่า ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองรับผิดสองในสามส่วนของความเสียหายทั้งหมด
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 32,712.45 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2535 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น