แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารตามฟ้องให้กับบริษัท พ. เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แม้การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี แต่การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษเท่ากัน และโจทก์ยื่นฟ้องตามฟ้องข้อ 2.3 พร้อมกับคำฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 เกิดขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องของโจทก์ข้อ 2.3 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวพันกับฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350,91
ศาลชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 ถึง 2.3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน การกระทำของจำเลย ตามฟ้องโจทก์ข้อ 2.4 และ 2.5 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษเพียงกระทงเดียว (ที่ถูกบทเดียว) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 ถึงข้อ 2.5 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน ยกฟ้องตามคำฟ้องข้อ 2.1 และ 2.2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ตามคำฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษด้วย ซึ่งโจทก์จะต้องรู้ถึงเจตนาพิเศษนั้นด้วย แม้จำเลยได้โอนทรัพย์สินไปจนโจทก์อาจไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน และโจทก์ทราบถึงการกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้ว หากปรากฏว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์สามารถบังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยได้ครบถ้วนตามหนี้ที่มีอยู่ การโอนทรัพย์สินของจำเลยดังกล่าวก็ยังไม่เป็นการกระทำความผิด จนกว่าจำเลยได้โอนทรัพย์สินที่เหลือออกไปหมด เมื่อโจทก์ตรวจสอบเพิ่มเติมพบในภายหลังว่าจำเลยได้โอนทรัพย์ครั้งหลังไปจนหมด เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีได้ โจทก์จึงเพิ่งทราบถึงการโอนทรัพย์สินของจำเลยในครั้งแรกและครั้งหลังซึ่งเป็นความผิด เมื่อปรากฏว่าวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ผู้แทนโจทก์ยึดทรัพย์ของบริษัทเพชรรัตน์ อิมปอร์ตแอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง ไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่งทราบเจตนาพิเศษของจำเลยและอายุความต้องเริ่มนับในวันดังกล่าว มิใช่วันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบถึงการกระทำความผิด โดยไม่ทราบถึงเจตนาพิเศษของจำเลย เห็นว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย ซึ่งคำว่า รู้เรื่องความผิด หมายความถึง รู้ข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นความผิด ไม่ได้หมายความถึงความผิดต้องเกิดขึ้นหรือการกระทำเกิดผลเป็นความผิดขึ้นแล้ว เมื่อตามฎีกาของโจทก์รับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 จำเลยจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ไปให้บริษัทเพชรรัตน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และนายชูเกียรติ จึงถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ตามฟ้องดังกล่าวจึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 ที่ศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่างวันและต่างสถานที่ โดยการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 เกิดที่สำนักงานที่ดินในกรุงเทพมหานคร มิใช่เขตฝั่งธนบุรี เมื่อโจทก์ขอให้ลงโทษแยกกระทง โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยตามฟ้องข้อดังกล่าวที่ศาลแขวงดุสิตและศาลจังหวัดมีนบุรี อันเป็นสถานที่กระทำความผิดแล้วขอให้นับโทษต่อ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 เมื่อวินิจฉัยข้างต้นว่าคดีโจทก์ตามฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ขาดอายุความแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามคำฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 นั้น เห็นว่า แม้ความผิดตามฟ้องข้อ 2.3, 2.4 และ 2.5 เป็นความผิดแต่ละกรรมต่างกันและความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษเท่ากัน และโจทก์ยื่นฟ้องตามฟ้องข้อ 2.3 พร้อมกับฟ้องข้อ 2.4 และข้อ 2.5 ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 และข้อ 2.5 เกิดขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและให้ประทับฟ้องไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องของโจทก์ข้อ 2.3 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวพันกับฟ้องข้อ 2.4 และข้อ 2.5 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน