แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่ากรณีพิพาทเป็นเรื่องเถียงกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลย แม้โจทก์จะมีกำขอให้ห้ามจำเลยกับบริวาร เข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท และขอให้สั่งเพิกถอนโฉนดของจำเลยเสียด้วย ก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอันเป็นเพียงส่วนของคำขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินนั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ดังนั้น เมื่อทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ก็ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีทั้ง ๔ สำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยคนเดียวกัน ใจความว่า โจทก์ทั้งสี่ต่างเป็นเจ้าของที่ดินคนละ ๑ แปลง ครอบครองติดต่อกันมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยนำพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์สำนวนที่ ๑ และ ๒ รายละ ๒๑ ตารางวา ราคาสำนวนละ ๕๐๐ บาท ที่ดินของโจทก์สำนวนที่ ๓ ประมาณ ๑๔๐ ตารางวา ราคา ๑,๕๐๐ บาท และที่ดินของโจทก์สำนวนที่ ๔ ประมาณ ๘๐ ตารางวา ราคา ๒๐๐ บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาททุกสำนวนเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และสั่งเพิกถอนโฉนดที่ ๘๔๙๙ ของจำเลย
จำเลยให้การทั้ง ๔ สำนวนว่า จำเลยนำรังวัดเขตโฉนดที่ดินของจำเลย ไม่ได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินตามโฉนดของจำเลย การออกโฉนดของจำเลยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทุกสำนวน พิพากษาว่า ที่ดินทุกสำนวนเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยแก้ไขโฉนดที่ ๘๔๙๙ ของจำเลยให้ถูกต้อง
จำเลยอุทธรณ์ ทั้ง ๔ สำนวน
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้ง ๔ สำนวน ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาว่า เป็นคดีฟ้องขับไล่ ไม่มีทุนทรัพย์จึงให้รับเป็นฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีทั้ง ๔ สำนวนนี้เป็นกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลย แม้คำขอของโจทก์ที่ว่า ขอให้ห้ามจำเลยกับบริวาร เข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทและขอให้สั่งเพิกถอนโฉนดที่ ๘๔๙๙ เสียด้วย ก็เป็นเพียงผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอันเป็นเพียงส่วนของคำขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินนั่นเอง จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และคดีทั้ง ๔ สำนวนนี้ โจทก์สำนวนที่ ๑ และสำนวนที่ ๒ ได้ตีราคาทรัพย์ที่พิพาทมาสำนวนละ ๕๐๐ บาท โจทก์สำนวน ที่ ๓ ตีราทรัพย์ ๑,๕๐๐ บาท และโจทก์สำนวนที่ ๔ ตีราคา ๒๐๐ บาท ไม่ถึง ๕,๐๐๐ บาท ทุกสำนวน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านราคาทรัพย์พิพาทเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ในชั้นฎีกา คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ หาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นในตอนท้ายแห่งมาตราดังกล่าวแล้วเท่านั้น แต่คดีนี้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ก็มิได้มีความเห็นแย้ง ทั้งผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็มิได้รับรองไว้
หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรฎีกาได้แต่อย่างใดทางที่จำเลยจะฎีกาได้จึงมีเพียงในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ปรากฏว่าจำเลยฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลย ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย