คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำยึดที่ดิน 1 แปลงของจำเลยที่ 1 และบ้าน 1 หลังของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขัดทรัพย์รวมมาในคำร้องฉบับเดียวกันโดยผู้ร้องที่ 1 ร้องขอให้ปล่อยที่ดินแห่งหนึ่ง ส่วนผู้ร้องที่ 2 ร้องขอให้ปล่อยบ้านอีกแห่งหนึ่งผู้ร้องทั้งสองมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว การที่เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในวันเดียวกันหรือเป็นการสะดวกที่จะดำเนินคดีไปพร้อมกันไม่ใช่ข้อที่จะแสดงว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และร่วมรับผิดชดใช้หนี้สินต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ โจทก์ขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และบ้านไม่มีเลขที่ อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดดังกล่าวเป็นของผู้ร้องทั้งสอง โดยที่ดินดังกล่าวที่โจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นความจริงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 297 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ 1 และบ้านดังกล่าวที่โจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นบ้านของผู้ร้องที่ 2 ปลูกขึ้นมาโดยอาศัยที่ดินของจำเลยที่ 2 ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ดินและบ้านดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องเข้ามาโดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59ไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า ผู้ร้องทั้งสองร้องขัดทรัพย์คนละประเภท เนื้อหาแยกจากกันชัดแจ้งแต่ที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องมาฉบับเดียวกันก็เพื่อความสะดวกในการดำเนินคดีรวมทั้งการส่งหมายของผู้ร้องทั้งสอง การยื่นคำให้การของโจทก์และการสืบพยาน เพราะเป็นคดีเดียวกันและเหตุที่เกิดวันเดียวกันคำร้องของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 เห็นว่าเมื่อผู้ร้องทั้งสองยอมรับว่าได้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์มาคนละประเภทโดยผู้ร้องที่ 1 ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินแห่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้น ส่วนผู้ร้องที่ 2 ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เกี่ยวกับบ้านอีกแห่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้น ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว การที่เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในวันเดียวกันหรือเป็นการสะดวกที่จะดำเนินไปพร้อมกัน ก็หาใช่ข้อที่จะแสดงว่าผู้ร้องทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันแต่อย่างใดไม่เมื่อผู้ร้องทั้งสองมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีย่อมไม่อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share