คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8076/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยพาอาวุธมีดติดตัวไป แม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายด้วย และเป็นผู้ที่พูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานให้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกโดยตลอดในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปพร้อมกันกับจำเลยที่ 1 และพวก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิด
ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้ มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้ แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 297, 309
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 337 วรรคสอง (2), 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี คำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 309 วรรคสอง, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี คำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวก ร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายนายประสิทธิ์ ผู้เสียหาย ถูกบริเวณหน้าอกทั้งสองข้างยาวประมาณ 4 ถึง 5 เซนติเมตร ลึกถึงกล้ามเนื้อหน้าอกและที่เข่าขวายาว 5 เซนติเมตร ลึกเข้าข้อเข่าขวา เส้นเอ็นเข่าขวาฉีกขาด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า เมื่อรถโดยสารประจำทางจอดที่ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางบริเวณที่เกิดเหตุ นายศิรวิทย์ขึ้นมาบนรถโดยสารประจำทางคันดังกล่าวและชกผู้เสียหายทันที จากนั้นกลุ่มนักเรียนโรงเรียนโปลีเทคนิคกรุงเทพขึ้นมาบนรถโดยถืออาวุธมีดเกือบทุกคน แล้วใช้อาวุธมีดรุมฟันผู้เสียหาย ขณะนั้นจำเลยที่ 2 อยู่บนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุด้วย นอกจากนี้ผู้เสียหายยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ไม่มีคนห้ามไม่ให้ทำร้ายผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ได้ยินเสียงห้ามไม่ให้ทำร้ายจากกลุ่มนักเรียนดังกล่าว โดยผู้เสียหายเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนภายหลังเกิดเหตุไปตามรูปเรื่องแห่งคดีอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ปราศจากพิรุธสงสัย ประกอบกับเหตุเกิดในเวลากลางวัน ผู้เสียหายย่อมมองเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน อีกทั้งผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับโทษ จำเลยที่ 2 ก็นำสืบรับอยู่ว่า จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงอ้างว่าจำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางในภายหลังเพื่อห้ามกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเดียวกันไม่ให้ทำร้ายผู้เสียหาย โดยขณะนั้นจำเลยที่ 2 ไม่มีอาวุธติดตัว ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้างแล้วยังขัดกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางตั้งแต่แรก และเห็นพวกของจำเลยที่ 2 ประมาณ 4 คน เข้าไปรุมทำร้ายผู้เสียหาย จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจเห็นเหตุการณ์จึงวิ่งมาที่รถโดยสารประจำทาง พวกของจำเลยที่ 2 วิ่งลงจากรถ และจำเลยที่ 2 วิ่งตามไป โดยวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 พาอาวุธมีดคมเดียวปลายหัวตัดติดตัวไปด้วย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ตามขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางในภายหลังเพื่อห้ามปรามกลุ่มนักเรียนดังกล่าวแต่ประการใด ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่กับร่องกับรอยและเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยที่ 2 ขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยพาอาวุธมีดติดตัวไป แม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายด้วย และเป็นผู้ที่พูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานให้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกโดยตลอดในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปพร้อมกันกับจำเลยที่ 1 และพวก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้ มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้ แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share