แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานส่วนหนึ่งคือหนี้เงินกู้ยืมที่เจ้าหนี้จ่ายให้ลูกหนี้รับไปก่อนทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง ส่วนจำนองที่ลูกหนี้ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนให้เจ้าหนี้นั้นเป็นแต่เพียงอุปกรณ์แห่งหนี้เงินกู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานซึ่งเป็นหนี้คนละส่วนที่แยกออกจากกันได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ได้มอบเงินที่กู้ยืมให้ลูกหนี้รับไป การกู้ยืมก็ได้เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ในทันทีนั้นเอง หลังจากนั้นแม้จะเป็นในวันเดียวกัน ลูกหนี้ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ กรณีก็ถือได้ว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
ลูกหนี้มีเจ้าหนี้ถึง 9 ราย มีหนี้รวมกันเป็นจำนวนถึงสองล้านบาทเศษมากกว่าจำนวนทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่หลายเท่าตัว การที่ลูกหนี้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทไปทำสัญญาจดทะเบียนจำนองแก่เจ้าหนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจ้าหนี้รายนี้แต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพื่อชำระหนี้บ้าง ย่อมเป็นกรรมที่แสดงถึงเจตนาของลูกหนี้ว่ามุ่งหมายให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองรายนี้
ย่อยาว
หลังจากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยทั้งสองแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๒ ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนแก่นางสาวสุณีเจ้าหนี้เงินกู้เพื่อเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าว อันเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนถูกฟ้องล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้นางสาวสุณีได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนองดังกล่าว
นางสาวสุณีคัดค้านว่า จำเลยที่ ๒ กู้ยืมเงินไป ๓๐๐,๐๐๐ บาท ในขณะเดียวกันได้นำที่ดินรายนี้มาจำนองเป็นประกัน ผู้คัดค้านได้รับจำนองไว้โดยสุจริตไม่ทราบถึงการที่จำเลยที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองรายพิพาท
นางสาวสุณีอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะจดทะเบียนจำนอง นางสาวสุณีไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๒ อยู่ก่อน กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพิพากษากลับให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยนั้นเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอีกเป็นหนี้ประธานส่วนหนึ่งซึ่งในคดีนี้ได้แก่หนี้เงินกู้ยืมจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาทที่เจ้าหนี้จ่ายให้ลูกหนี้ที่ ๒ รับไปก่อนการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง ส่วนจำนองที่ลูกหนี้ที่ ๒ ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนให้เจ้าหนี้ไว้นั้นเป็นแต่เพียงอุปกรณ์แห่งหนี้เงินกู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนต่างหากที่อาจแยกออกจากกันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่ลูกหนี้ที่ ๒ ขอกู้ยืมเงินเจ้าหนี้เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และเจ้าหนี้ก็ตกลงยินยอมให้กู้ เมื่อเจ้าหนี้ได้มอบเงินที่กู้จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาทให้ลูกหนี้ที่ ๒ รับไปแล้ว ในทันทีทันใดนั้นการกู้ยืมเงินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ ๒ ก็ได้เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ ๒ ในทันทีทันใดนั้นเอง หลังจากนั้นแม้จะเป็นวันเดียวกันการที่ลูกหนี้ที่ ๒ ได้มอบอำนาจให้นางสาวสมถวิลทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวให้กับเจ้าหนี้ กรณีถือได้ว่านางสาวสุณีเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ ๒ อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ทั้งนี้เพราะความในมาตรานี้มิได้บัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้รับโอนหรือผู้ได้รับประโยชน์จากการโอนหรือการกระทำใด ๆ ของลูกหนี้จะต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนวันที่ได้รับโอนหรือได้รับประโยชน์มาแต่อย่างใด และลูกหนี้ทั้งสองมีทรัพย์สินเพียงราคาประมาณ ๒๖๖,๕๐๐ บาท กับลูกหนี้ที่ ๒ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายสมพงษ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๗๓ ซึ่งมีเนื้อที่เพียง๖ เศษ ๖ ส่วน ๑๐ ตารางวา พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างพิพาทเท่านั้น เมื่อลูกหนี้ทั้งสองมีเจ้าหนี้ถึง ๙ ราย มีหนี้รวมกันเป็นจำนวนถึง ๒,๕๘๒,๐๐๗ บาท ๐๑ สตางค์ มากกว่าจำนวนทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่หลายเท่าตัว ดังนั้นการที่ลูกหนี้ที่ ๒ นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทไปทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจ้าหนี้รายนี้แต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามกฎหมาย โดยเจ้าหนี้อื่น ๆ ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากราคาของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเพื่อชำระหนี้บ้างนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวย่อมเป็นกรรมที่แสดงถึงเจตนาของลูกหนี้ที่ ๒ ว่ามุ่งหมายให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นโดยปราศจากสงสัย ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองรายนี้เสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น