แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ซื้อ และชำระราคาค่าที่ดินจากการขายทอดตลาดของศาล เจ้าของที่ดิน ผู้ได้รับเงินค่าที่ดินได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีเงินได้เนื่องจากการขายที่ดิน แม้ต่อมาจะมีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2525 บัญญัติให้ผู้รับเงินได้จากการขายที่ดินต้องเสียภาษีเงินได้ และให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้ก็หมายความว่า ผู้รับเงินได้จากการขายที่ดินตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไปเท่านั้นที่จะต้องเสียภาษีเงินได้
เมื่อผู้รับเงินได้ไม่จำต้องเสียภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่ได้รับจาก การขายที่ดิน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้ไว้เพื่อนำมาชำระ แก่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังนั้น จำเลยจะบังคับให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับ อยู่ในขณะนั้นมิได้บัญญัติให้โจทก์ต้องหักภาษีเงินได้ไว้จากผู้รับเงินได้ โดยจำเลยจะอาศัยกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังย่อมเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประมูลซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาดของศาลได้ชำระเงินครบถ้วนในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ และคู่ความในคดีได้รับเงินไปเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๔ ต่อมาโจทก์นำหนังสือของศาลไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อจำเลย จำเลยสั่งให้โจทก์ชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย มิฉะนั้นจะไม่จดทะเบียนให้ โจทก์เห็นว่ากรมสรรพากรจะมีสิทธิเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้ขายที่ค้างอยู่ก่อนวันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๒๕ ใช้บังคับเท่านั้น ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
จำเลยให้การว่า โจทก์ยังทำการซื้อขายไม่สมบูรณ์ และมาขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อจำเลยเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ซึ่งโจทก์จะต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่โจทก์ไม่ยอมชำระ จำเลยจึงไม่จดทะเบียนให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้องโดยไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากร พุทธศักราช ๒๔๘๑ มาตรา ๔๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ทั้งสามซื้อและชำระราคาค่าที่ดินตามฟ้องจากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดแม่สอด บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
ฯลฯ
(๙) การขายทรัพย์สินอันเป็นมรดก หรือการขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ” การขายที่ดินตามฟ้องไม่ปรากฏว่าเป็นการขายทรัพย์สินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้น ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ ที่โจทก์ทั้งสามชำระเงินค่าที่ดินตามฟ้องแก่ศาลจังหวัดแม่สอดและวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๔ นายบุญยืนเจ้าของที่ดินได้รับเงินค่าที่ดิน นายบุญยืนจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีเงินได้ เนื่องจากการขายที่ดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น แม้ต่อมาจะมีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๒ (๙) และใช้ความใหม่แทนว่า “(๙) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร” และมาตรา ๑๔กำหนดให้เพิ่มความในมาตรา ๕๑ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้ ว่า “(๕). ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ ให้คำนวณหักดังต่อไปนี้ ” ย่อมหมายความว่าผู้ได้รับเงินจากการขายที่ดินตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไปเท่านั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้โดยคำนวณจากจำนวนเงินที่ได้รับจากการขาย ดังนั้น เมื่อนายบุญยืนเจ้าของที่ดินตามฟ้องได้รับเงินค่าขายที่ดินเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ นายบุญยืนจึงหาจำต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินตามฟ้องไม่ และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิหักภาษีเงินได้จากการขายที่ดินตามฟ้องจากนายบุญยืนเจ้าของที่ดินเพื่อนำมาชำระแก่จำเลยเมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองจะบังคับให้โจทก์ทั้งสามชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินตามฟ้อง โดยที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะซื้อขายและจ่ายเงินค่าที่ดินมิได้บัญญัติให้โจทก์ทั้งสามต้องหักภาษีเงินได้ไว้จากนายบุญยืนผู้มีเงินได้ โดยจำเลยจะอาศัยกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังย่อมเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน