แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จย้ายชื่อบุคคลทั้งแปดเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่น และแจ้งย้ายชื่อ พ. และ น. วันเดียวกัน แจ้งย้ายชื่อ ก. ต. ย. และ ม. กับ ส. วันเดียวกัน กับแจ้งย้ายชื่อ ธ. อีกวันก็ตาม แต่จำเลยก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลต่างรายกันและเข้าไปในทะเบียนบ้านคนละฉบับกัน จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยแจ้งย้ายบุคคลเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่นแต่ละฉบับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 267 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 8, 50
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน และฐานกระทำการเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำการเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 21 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนมีกำหนด 21 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 7 กรรมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในลักษณะและประเภทเดียวกัน กระทำต่างกันเพียง 3 วันการกระทำของจำเลยจึงเป็น 3 กรรมนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 จำเลยแจ้งย้ายชื่อนายพิชิตเข้าไปในทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 72 และแจ้งย้ายชื่อนายนิรภัยเข้าไปในทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 151 วันที่ 19 มกราคม 2550 จำเลยแจ้งย้ายชื่อนายเมธาเข้าไปในทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 99 และวันที่ 25 มกราคม 2550 จำเลยแจ้งย้ายชื่อนายกาญจน์พิสิฐเข้าไปในทะเบียนบ้าน บ้านเลขที่ 172 แจ้งย้ายชื่อนายกิตติคุณเข้าไปในทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 157 แจ้งย้ายชื่อนายสรายุทธเข้าไปในทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 189 และแจ้งย้ายชื่อนางมะลิและนายสุรศักดิ์เข้าไปในทะเบียนบ้านบ้านเลขที่ 146 อันเป็นความเท็จ เห็นว่า แม้จำเลยจะกระทำความผิดในลักษณะดียวกันโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จย้ายชื่อบุคคลทั้งแปดเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่น และแจ้งย้ายชื่อนายพิชิตและนายนิรภัยวันเดียวกัน แจ้งย้ายชื่อนายกาญจน์พิสิฐ นายกิตติคุณ นายสรายุทธ และนางมะลิกับนายสุรศักดิ์วันเดียวกัน กับแจ้งย้ายชื่อนายเมธา อีกวันก็ตาม แต่จำเลยก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลต่างรายกันและเข้าไปในทะเบียนบ้านคนละฉบับกัน จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยแจ้งย้ายบุคคลเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่นแต่ละฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 7 กรรม มิใช่ 3 กรรมดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน