คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดที่โจทก์กล่าวหาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,335,336 ทวิ พอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหาใดได้แล้ว แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ในตอนต่อมาบรรยายว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางที่จำเลยกับพวกได้ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อกระทำความผิดก็ไม่ ทำให้คำฟ้องของโจทก์เสียไป เพราะโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้อยู่แล้ว และหากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับพวกอีกหลายคน จำเลยก็คงได้รับโทษตามความผิดที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องเท่านั้น คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ การที่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังได้เพิ่มเติมจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้ร่วมกับพวกอีกหลายคนกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหายนั้น ก็ไม่เป็นข้อสาระสำคัญที่จะให้ถือว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องอันจะทำให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยมีเจตนาเอารถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน 9 ฬ – 9520 กรุงเทพมหานคร ราคา 700,000 บาท ของนางสาวศิริพร นิลสวิท ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้ของแข็งทุบบริเวณกระจกประตูด้านหลังขวาของรถยนต์จนแตกออก อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อจะเปิดประตูรถและใช้เครื่องมือที่จำเลยเตรียมมาติดเครื่องยนต์และขับรถยนต์คันดังกล่าวหลบหนีไป แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลเนื่องจากขณะกระทำความผิดอยู่นั้น เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นและเข้าขัดขวางจับกุมจำเลยไว้ได้ก่อน จำเลยจึงไม่สามารถลักรถยนต์ไปได้สำเร็จ และโดยการกระทำความผิดดังกล่าวจำเลยใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 3222 กรุงเทพมหานครเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตามวันเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมลูกกุญแจ 1 พวง จำนวน 16 ดอก ค้อน 1 ด้าม ถุงมือ 5 คู่ เครื่องมือช่าง 1 ชุดจำนวน 9 ชิ้น และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 9 ฮ – 3222 กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยกับพวกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 335, 336 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3) วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 336 ทวิ จำคุก 4 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ริบลูกกุญแจ ค้อน ถุงมือ และเครื่องมือช่างของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ตามคำฟ้องข้อที่ 1 โจทก์บรรยายว่าจำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แต่ข้อที่ 2โจทก์กลับบรรยายว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมของกลางซึ่งจำเลยกับพวกได้ใช้และมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิด จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขัดแย้งกัน เพราะตามคำฟ้องข้อ 2 แสดงว่า ผู้กระทำผิดคดีนี้มิใช่มีจำเลยเพียงคนเดียว แต่มีพวกของจำเลยร่วมกระทำผิดด้วย คำฟ้องที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ที่บัญญัติว่า “การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี” นั้น ย่อมมีความหมายถึงว่า เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายสรุปข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดนั้นให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวโดยระบุเวลาและสถานที่กระทำผิด รวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควร เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาที่จะต่อสู้คดีตามฟ้องโจทก์ได้ ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายสรุปข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดที่โจทก์กล่าวหาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 335, 336 ทวิ พอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหาใดได้แล้ว แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ในตอนต่อมาบรรยายว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางที่จำเลยกับพวกได้ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อกระทำความผิดดังเช่นที่จำเลยฎีกาก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์เสียไปเพราะโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้อยู่แล้ว และหากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับพวกอีกหลายคนก็ตาม จำเลยก็คงได้รับโทษตามความผิดที่โจทก์ขอมาในคำฟ้องเท่านั้น คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการที่สองสรุปได้ว่าตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเบื้องต้นว่า จำเลยกระทำผิดคดีนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ในทางพิจารณาตามทางนำสืบของโจทก์กลับได้ความว่า จำเลยกับพวกอีก 5 คน ร่วมกันกระทำผิดซึ่งเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในฟ้อง ซึ่งศาลต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง การที่ศาลล่างทั้งสองยังพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในกรณีที่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องอันเป็นเหตุที่จะให้ศาลต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นการแตกต่างในข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง โดยหากรับฟังข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาแล้วเป็นความผิดที่โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์เลย เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา192 วรรคสาม, วรรคสี่ และวรรคห้าดังนั้น สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเป็นยุติว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำการอันเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 335, 336 ทวิที่โจทก์ขอมาในฟ้อง ก็ย่อมแสดงว่าข้อเท็จจริงที่เป็นข้อสำคัญแห่งคดีเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ได้ความในทางพิจารณามิได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงกล่าวมาในฟ้อง ส่วนการที่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังได้เพิ่มเติมจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้ร่วมกับพวกอีกหลายคนกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องนั้น ก็ไม่เป็นข้อสาระสำคัญที่จะให้ถือว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องอันจะทำให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ดังที่จำเลยฎีกา เพราะถึงอย่างไรข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษก็เป็นการกระทำตามที่โจทก์กล่าวหาจำเลยดังที่บรรยายมาในฟ้องนั่นเอง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share