คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) ด้วย) ลงโทษจำคุก 4 ปี แม้จะเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่การแก้ไขบทลงโทษเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๑๐๒ และคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง จำคุก ๕ ปี คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ลงโทษจำคุก ๔ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง , ๖๖ วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก ๕ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) (ที่ถูก มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (เดิม) ด้วย) ลงโทษจำคุก ๔ ปี แม้จะเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่การแก้ไขบทลงโทษเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย.

Share