คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4094/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ลูกค้าของโจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อในเดือนมิถุนายน 2535ไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าของโจทก์ในเขตจังหวัดลำปางแล้วยักยอกเงินไปเป็นของตน รวมเป็นเงิน 360,065.86 บาทในวันที่ 26 มิถุนายน 2535 ครบกำหนดจำเลยที่ 1 นำส่งค่าสินค้าแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำส่งเงินค่าสินค้าแต่ทิ้งงานและเอาเงินค่าสินค้าไป โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์เป็นค่าสินค้าอะไรบ้างแต่ละรายการเป็นเงินเท่าใดและเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากลูกจ้างคนใดของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 และเมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ทำงานตำแหน่งพนักงานขายประจำจังหวัดลำปาง มีหน้าที่นำเงินค่าสินค้าที่ได้รับมาส่งฝ่ายบัญชีโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535จำเลยที่ 1 ไม่นำส่งเงินค่าสินค้าและแสดงรายการขายแก่โจทก์โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าสินค้าโจทก์ไปเป็นจำนวน 360,065.86 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระโจทก์เสียหาย ขอเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 19,162.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 379,228.26 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 360,065.86 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าสินค้าอะไร รับเงินมาจากร้านค้าใดเป็นเงินจำนวนเท่าใด โจทก์แจ้งจำเลยทั้งสองตามหนังสือฉบับลงวันที่20 สิงหาคม 2535 ให้ชำระเงินเพียง 239,397.86 บาท แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนเงินถึง 379,228.26 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยที่ 2 แถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ซึ่งเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2535 และออกจากงานวันที่2 กรกฎาคม 2535 ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2535 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 ให้ชดใช้เงินจำนวน 239,397.86 บาท โจทก์ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงิน 379,228.26 บาท
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน360,065.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำความเสียหายของจำเลยที่ 1เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ลูกค้าของโจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อในเดือนมิถุนายน2535 ไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าของโจทก์ในเขตจังหวัดลำปาง แล้วยักยอกเงินไปเป็นของตน รวมเป็นเงิน 360,065.86 บาทในวันที่ 26 มิถุนายน 2535 ครบกำหนดจำเลยที่ 1 นำส่งค่าสินค้าแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำส่งเงินค่าสินค้า แต่ทิ้งงานและเอาเงินค่าสินค้าไป โดยไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์เป็นค่าสินค้าอะไรบ้าง แต่ละรายการเป็นเงินเท่าใดและเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากลูกค้าคนใดของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 สำหรับและเมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share