คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยติดต่อขอชำระหนี้ และส่งเงินชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่รับชำระหนี้กลับยื่นฟ้องจำเลย การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 460,062 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 433,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 460,062 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 433,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 สิงหาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงิน 475,000 บาท มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 7,000 บาท โดยโจทก์จะหักเงินเดือนทุกๆ สิ้นเดือน และจะหักเงินโบนัสประจำปีทุกปีจนกว่าจะครบ โจทก์เลิกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 และจำเลยผ่อนชำระเงินแก่โจทก์เพียงงวดสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 เป็นจำนวน 6 งวด เป็นเงิน 42,000 บาท ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้หรือไม่ แต่เห็นสมควรวินิจฉัยตามประเด็นในคำแก้ฎีกาของจำเลยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ โจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 7,000 บาท โดยโจทก์จะหักเงินเดือนจำเลยทุกๆ สิ้นเดือน และจะหักเงินโบนัสประจำปีของทุกๆ ปี เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชำระหนี้ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลย วิธีการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันย่อมไม่สามารถกระทำต่อไปได้อีก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนหนี้จะถึงกำหนดชำระในงวดเดือนกันยายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อขอชำระหนี้โดยการโอนเงินค่างวดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยให้โจทก์แจ้งหมายเลขบัญชีและธนาคารที่จะให้โอนเงินให้จำเลยทราบเพื่อจะได้โอนเงินให้ทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ได้รับหนังสือแล้ว แต่หาแจ้งให้จำเลยทราบไม่ จำเลยจึงต้องแจ้งโจทก์อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 30 กันยายน 2541 และวันที่ 29 ตุลาคม 2541 แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่แจ้งให้จำเลยทราบเช่นเดิม จำเลยจึงได้ชำระหนี้โจทก์โดยส่งเงินทางไปรษณีย์ธนาณัติ แต่โจทก์กลับปฏิเสธไม่ยอมรับ ซ้ำกลับให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดโดยอ้างว่าจำเลยผิดนัดจนจำเลยจำต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยวิธีการนำเงินไปวางชำระหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี การกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความขวนขวายที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์หาได้มีเจตนาหรือจงใจที่จะไม่ชำระหนี้ไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ที่ไม่ชำระหนี้เป็นไปโดยไม่สุจริต การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share