คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4073/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการ แล้วแก้ไขรายการในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แก้ไขรายการจดทะเบียนรถในเอกสารที่แท้จริง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายการจดทะเบียนโดยมีเจตนาอย่างเดียวกับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์เพื่อให้เจ้าพนักงานเห็นว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ-6302 กรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจำเลยกับพวกจะได้ใช้รถยนต์นั้นโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการปลอมรายการจดทะเบียนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมซึ่งจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียนผ – 7950 สุพรรณบุรี โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขทะเบียนรถเป็น 7 พ – 6302 กรุงเทพมหานคร แก้ไขวันสิ้นอายุจากเดิมวันที่ 3 เมษายน 2542 เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2542 อันเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารราชการและจำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นเอกสารราชการของกรมการประกันภัย โดยนำแผ่นป้ายซึ่งกรมการประกันภัยออกให้แก่ยานพาหนะอื่น มาแก้ไขหมายเลขทะเบียนรถจากเดิมเป็นหมายเลขทะเบียน 7 พ – 6302 กรุงเทพมหานครอันเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารราชการนอกจากนี้จำเลยทั้งสี่ยังร่วมกันปลอมเอกสารราชการสำเนารายการจดทะเบียนรถขึ้นทั้งฉบับแล้วจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์และแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยทั้งสี่ทำปลอมขึ้นไปติดไว้ที่กระจกด้านหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ – 7950 สุพรรณบุรี ซึ่งติดแผ่นป้ายทะเบียน 7 พ – 6302 กรุงเทพมหานคร ของรถคันอื่นแล้วใช้อ้างแสดงต่อร้อยตำรวจโทมนต์ชัย พุ่มพูน กับพวกต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยึดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและสำเนารายการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 41, 42 และริบของกลาง

จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องมาเป็นคดีใหม่

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 41, 42 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ2 ปี รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 42 วรรคสอง ประกอบมาตรา 41 จำคุกคนละ 2 ปีฐานปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกา ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วแก้ไขรายการเจ้าของรถในสำเนาเอกสารดังกล่าวในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์จากเดิมเป็นชื่อผู้อื่นเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ได้แยกการกระทำเป็น 2 ประการ คือ การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดประการหนึ่ง และการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง อีกประการหนึ่งการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดไม่จำต้องกระทำลงในเอกสารที่แท้จริง ต่างไปจากการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ซึ่งต้องกระทำในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วจำเลยที่ 1 แก้ไขรายการในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้แก้ไขรายการจดทะเบียนรถในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม และปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ แม้เอกสารทั้ง 3 รายการ จะเป็นเอกสารคนละประเภทแต่จำเลยมีเจตนาประการเดียวคือเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารสำหรับใช้ประกอบกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ – 6302 กรุงเทพมหานคร การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า สำหรับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นปรากฏชัดเจนว่าเป็นการปลอมขึ้นสำหรับใช้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ – 6302 กรุงเทพมหานคร แต่การปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุให้เห็นชัดเจนเช่นในข้อหาอื่นว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวหรือต่างคันกันแต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ทั้งฉบับแล้วก็พอจะแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่าเป็นการปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถหรือสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถเพื่อใช้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ – 6302กรุงเทพมหานคร นั่นเอง ทั้งนี้เพราะการจะใช้รถยนต์คันนี้ได้นอกจากจะต้องติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์แล้ว ตามกฎหมายผู้ขับรถหรือควบคุมรถจะต้องมีสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถด้วยเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ในคดีนี้กับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันกับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ เพื่อให้เจ้าพนักงานเห็นว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ – 6302 กรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจำเลยดังกล่าวกับพวกจะได้ใช้รถยนต์นั้นโดยชอบการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการปลอมรายการจดทะเบียนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมซึ่งจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาข้อนี้ให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ส่วนการปลอมและใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้น เห็นได้ว่าก็เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ามีการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่ต้องกล่าวซ้ำอีกข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดฐานปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ ฐานปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ และฐานใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ความผิดของจำเลยทั้งสามฐานนี้เป็นกรรมเดียวกันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 265 จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share