คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลที่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนจะต้องเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 เท่านั้น
ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรีได้เปิดทำการและมีผลบังคับใช้แล้ว แม้คดีนี้ขณะที่กระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ในท้องที่จังหวัดราชบุรีซึ่งจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวดังนั้น ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ.จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3)ศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามความหมายในมาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาจำเลยแล้ว การอุทธรณ์ฎีกาจึงต้องอุทธรณ์ฎีกาไปตาม ป.วิ.อ. คดีจึงขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3และศาลฎีกาตามลำดับ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาจึงมิใช่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามความหมายของมาตรา 4 ด้วยเช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาย่อมไม่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา104 (2) เพื่อเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีได้ แม้ในขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรีได้เปิดทำการและมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม
ขณะที่จำเลยกระทำผิด จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 3.896 กรัม เกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท แต่ในระหว่างพิจารณาปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20ระบุชื่อ เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 3.896 กรัม ไม่ถึง 20 กรัม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 อีกต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 67 ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ตาม ป.อ.มาตรา 3 แต่สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท มีระวางโทษหนักกว่าฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 89ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทจึงถือว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแตกต่างและมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ดังนี้ ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518มาตรา 89 ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ.มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67นั้น เป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

Share