แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 67 นำมาใช้กับคดีอาญาได้โดยอนุโลม ตามป.วิ.อ. มาตรา 15 จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยใช้กระดาษแบบพิมพ์คำฟ้องอุทธรณ์ แต่ตอนลงชื่อในแผ่นสุดท้ายกลับใช้กระดาษแบบพิมพ์ท้ายคำแก้อุทธรณ์ แทนที่จะเป็นแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นหน้าที่ ของศาลชั้นต้นที่จะตรวจอุทธรณ์แล้วสั่งแก้ไขก่อนที่จะรับอุทธรณ์ แต่เมื่อมิได้สั่งให้แก้ไขและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยและมีคำพิพากษา ไปโดยมิได้สั่งให้แก้ไขให้บริบูรณ์เสียก่อนชี้ขาดตัดสินคดี ก็ไม่ทำให้อุทธรณ์ของจำเลยไม่เป็นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาต่อไปไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นอาวุธปืนลูกซองสั้นให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายดำรง สีดำ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ส่วนอาวุธปืนลูกซองยาวกระสุนปืน และอาวุธปืนลูกซองสั้นที่ยึดมาได้จากบ้านจำเลยให้คืนแก่จำเลย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หัวกระสุนปืนปลอกกระสุนปืน และหน้าอุดกระสุนปืนที่ยึดได้ในที่เกิดเหตุเป็นทรัพย์ที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ คืนอาวุธปืนลูกซองยาวเดี่ยวและอาวุธปืนลูกซองสั้น พร้อมกับกระสุนปืนลูกซอง 14 นัดแก่จำเลย
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยใช้กระดาษแบบพิมพ์”ท้ายคำแก้อุทธรณ์” ซึ่งที่ถูกจำเลยต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำคู่ความ แต่การยื่นคำคู่ความไม่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเฉพาะ คงบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 67 วรรคแรก (5) ว่าจะต้องลงชื่อคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ยื่นหรือเป็นผู้ส่งคำคู่ความ และในการยื่นหรือส่งคำคู่ความอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตามมาตรา 67 วรรคสอง บุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น จึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 มาใช้บังคับในคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คดีนี้จำเลยอุทธรณ์โดยใช้กระดาษแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เพียงแต่ในอุทธรณ์แผ่นสุดท้ายทนายจำเลยลงชื่อโดยใช้กระดาษแบบพิมพ์คำแก้อุทธรณ์เท่านั้น กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคสอง ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้สั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยและมีคำพิพากษาไปโดยมิได้สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้บริบูรณ์เสียก่อนชี้ขาดตัดสินคดีก็ไม่ทำให้อุทธรณ์ของจำเลยไม่เป็นอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้…”
พิพากษายืน.