คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมฉบับพิพาทจากโจทก์30,000 บาท ต่อมาโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญาเป็น60,000 บาท โดยไม่เป็นความจริงแล้วโจทก์นำสัญญานั้นมาฟ้อง ดังนี้ เมื่อปรากฏว่า สัญญากู้ยืมฉบับพิพาทจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิด แม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้น จึงทำให้สัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทเป็นเอกสารปลอม ก็ไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามจำนวนเงินเท่าที่จำเลยกู้ไปจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 60,000 บาท ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและเวลาชำระหนี้ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา1 ปี 3 เดือน เป็นเงิน 5,625 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน65,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 30,000 บาทโจทก์แก้ไขจำนวนเงินเป็น 60,000 บาท โดยจำเลยมิได้ยินยอมสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม เป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในข้อกฎหมายประการเดียวว่าหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมในการฟ้องได้ตามกฎหมายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนไว้แล้วว่าจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 ยืมเงินจากโจทก์ 30,000 บาท โจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญาเป็น 60,000 บาท โดยไม่เป็นความจริง สัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นเอกสารปลอมแล้วนำสัญญามาฟ้อง ข้อเท็จจริงได้ความ ดังนี้ เห็นว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยลงลายมือชื่อ เป็นผู้กู้ กู้ยืมเงินโจทก์ 30,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิด แม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้น ไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดเท่าที่กู้ไปจริงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share