คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4068/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดและให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ. ข้างต้นบัญญัติว่า “บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่” การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ในอันที่จะขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ. ข้างต้นได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์กระบะบรรทุกและโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามคำร้องให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๐, ๓๑
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดี ในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นรวม ๒ วัน ติดต่อกันแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นบุตรของจำเลย และเป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข ๐๑ – ๔๗๑๕๙๘๔ โดยซื้อมาจากบริษัทเลยเทเลคอม จำกัด ส่วนผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บ – ๖๗๓๐ เลย โดยซื้อมาจากบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด สาขาเลย การที่จำเลยนำรถยนต์กระบะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไปใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ทราบและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บ – ๖๗๓๐ เลย และโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข ๐๑ – ๔๗๑๕๙๘๔ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นบุตรของจำเลยและผู้คัดค้านที่ ๒ รถยนต์กระบะบรรทุกยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน บ – ๖๗๓๐ เลย เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ ๒ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข ๐๑ – ๔๗๑๕๙๘๔ มีชื่อผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นเจ้าของ วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๑ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย โดยอ้างว่ายึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑,๒๕๗ เม็ดและเมทแอมเฟตามีนชนิดผงอีก ๑ ถุง ธนบัตรจำนวน ๗,๗๖๐ บาท ซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์กระบะบรรทุก หมายเลขทะเบียน บ – ๖๗๓๐ เลย กับเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๖ เม็ด ที่กระเป๋ากางเกงของจำเลย และโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน ๑ เครื่อง ของผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นของกลาง ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ต่อศาลชั้นต้น และยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ริบรถยนต์กระบะบรรทุก หมายเลขทะเบียน บ – ๖๗๓๐ เลย และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ความปรากฏว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง และเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๕๗, ๖๗, ๙๑ ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นบัญญัติว่า “บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่” การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ในอันที่จะขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๐, ๓๑ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ริบรถยนต์กระบะของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ ๒ อีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

นายพิทยา ลิ้มสุวัฒน์ ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share