คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสองในราคา 150 บาท โดยให้เงินไป200 บาท ดังนั้น เงินจำนวน 50 บาทที่จำเลยทั้งสองทอนให้แก่สายลับย่อมถือเป็นทรัพย์ ที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ จึงต้องริบ และปัญหาเรื่องริบของกลางหรือไม่นี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ในระหว่างพิจารณา มี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ แก้ไขใหม่โดยบัญญัติความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายว่า การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีสารแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง
ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง ส่วนระวางโทษนั้นกฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 157 เม็ด น้ำหนัก 15.79 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.20 กรัมให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 150 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินทอนจำนวน 50 บาท ของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกคนละ 10 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 15 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเงินทอน 50 บาท ของกลาง ไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดจึงไม่ริบ แต่ให้คืนแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกคนละ 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน แล้ว รวมจำคุกคนละ 6 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นับเป็นต้นเหตุทำให้ยาเสพติดให้โทษชนิดดังกล่าวแพร่ระบาดสู่ประชาชน อันเป็นเหตุให้ผู้คนตกเป็นทาสของยาเสพติดให้โทษเพิ่มมากขึ้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงถือว่าเป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่งประกอบกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็มีจำนวนมากถึง157 เม็ด น้ำหนัก 15.79 กรัม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง 8 ปี ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินทอน 50 บาทของกลาง ไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด จึงไม่ริบ แต่ให้คืนแก่เจ้าของ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้นั้น เห็นว่า คดีนี้ทางพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจมอบธนบัตรจำนวน 300บาท ให้แก่สายลับเพื่อไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด จากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงจำนวน 2 เม็ดให้แก่สายลับในราคา 150 บาท ดังนั้น เงินจำนวน 50 บาทของกลาง ที่จำเลยทั้งสองทอนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อย่อมถือเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ จึงต้องริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้ริบเงินทอนจำนวน 50 บาท ดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และปัญหาเรื่องริบของกลางหรือไม่นี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมาตรา 15 วรรคสาม(2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติความว่า การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีสารแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้นเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสองส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีข้อความทำนองเดียวกันตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง สำหรับคดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 157 เม็ด น้ำหนัก 15.79 กรัม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.20 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใดกรณีความผิดทั้งสองฐานต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ด้วยเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ริบเงินทอนจำนวน50 บาทของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share