คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมมีประเด็นว่าโจทก์ในคดีนี้ผิดสัญญาเช่าหรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่หรือไม่ คดีนี้โจทก์อ้างเหตุว่าสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์เพราะมีการปลอมเอกสารแล้วทำสัญญาเช่าโดยผู้ทำไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่า อีกทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยทั้งสองคดีมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เมื่อการแต่งตั้ง พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรก ผู้ใดจะกล่าวอ้างแสวงสิทธิจากเอกสารดังกล่าวนั้นหาได้ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการ ย่อมทำให้ พ. ถูกเพิกถอนจากการเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ การใดที่ พ. กระทำไปในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและไม่ผูกพันโจทก์ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในคดีเดิมเสียได้ แล้วจึงฟ้องบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในภายหลัง หรือโจทก์จะใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิโดยฟ้องบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วยเหตุสัญญาเช่าไม่ผูกพันโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในคดีเดิม
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า สัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่าทำสัญญาทั้งสองสัญญาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในการเช่า อันจะใช้ยันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ การแต่งตั้ง พ. เป็นกรรมการของโจทก์เกิดจากการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสาร อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถือว่าการแต่งตั้งนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย มิใช่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1166
ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าและไม่ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นการวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ในคำให้การและทางนำสืบของจำเลยว่าข้ออ้างของจำเลยรับฟังได้หรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 500,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร และให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1216/2543 หรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ในคำให้การและยกขึ้นอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยก็ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า คดีเดิมจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้ว่า จำเลยตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ โดยมีกำหนดระยะเวลาเช่ารวม 30 ปี นับแต่วันทำสัญญา กำหนดชำระค่าเช่าเป็นเงิน 40,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ตกลงจะไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย ณ สำนักงานที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ครบถ้วน และจำเลยชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย ขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าลงวันที่ 16 กันยายน 2540 ให้โจทก์เป็นเวลา 30 ปี นับแต่วันทำสัญญา ซึ่งต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เดิมโจทก์มีนายสยามเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เพียงผู้เดียว แต่นางพรพันธ์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารและลายมือชื่อของนายสยามในคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการ โดยให้นายสยามออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งนายสยามไม่ได้รู้เห็นและยินยอม จนนางพรพันธ์ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เพียงผู้เดียว แล้วนางพรพันธ์กับจำเลยสมคบกันฉ้อฉล โดยนางพรพันธ์นำที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยเช่าและครอบครองใช้ประโยชน์ ซึ่งความจริงโจทก์ไม่มีความประสงค์จะนำที่ดินพิพาทให้บุคคลอื่นเช่า ต่อมานายสยามทราบเรื่องจึงฟ้องนางพรพันธ์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่นางพรพันธ์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารจดทะเบียนไว้ ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทำสัญญาเช่าดังกล่าวของนางพรพันธ์กับจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะนางพรพันธ์ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ตามสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท แก่โจทก์ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าในคดีเดิมมีประเด็นว่าโจทก์ในคดีนี้ผิดสัญญาเช่าหรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ โดยในคดีนี้โจทก์อ้างเหตุว่าสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ เพราะมีการปลอมเอกสารแล้วทำสัญญาเช่าโดยผู้ทำไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาเช่า อีกทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยทั้ง 2 คดี มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1216/2543 ตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคำพิพากษาผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการปลอมเอกสารและลายมือชื่อของนายสยามในรายงานการประชุมและคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการโจทก์ และศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและอำนาจกรรมการตามคำขอที่ 630/39 และคำขอที่ 1264/2539 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้นางพรพันธ์กับพวกเป็นกรรมการของโจทก์ โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นและข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่านายสยามได้ร่วมรู้เห็นยินยอมหรือประมาทเลินเล่อให้มีการปลอมลายมือชื่อของตนแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าการแต่งตั้งนางพรพันธ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เพียงผู้เดียวเป็นผลมาจากการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสาร จึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรก ผู้ใดจะกล่าวอ้างแสวงสิทธิจากเอกสารดังกล่าวนั้นหาได้ไม่ เมื่อศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้นางพรพันธ์ถูกเพิกถอนจากการเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไปในตัว อันมีผลทำให้การใดที่นางพรพันธ์ได้กระทำไปในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและไม่ผูกพันโจทก์ ดังนั้น สัญญาเช่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างก็ดี สัญญาประนีประนอมยอมความก็ดี ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ผูกพันโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ในคดีเดิมเสียไป แล้วจึงค่อยไปฟ้องบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทในภายหลัง หรือโจทก์จะใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีสิทธิที่จะปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ได้อีกทางหนึ่ง การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิโดยฟ้องบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วยเหตุสัญญาเช่าไม่ผูกพันโจทก์เป็นคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในคดีเดิมเท่านั้น และที่จำเลยอ้างว่า หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบ โจทก์ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกานั้น ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาในคดีเดิมได้แล้ว อีกทั้งในคดีนี้หากศาลเห็นว่าสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ คำพิพากษาตามยอมในคดีเดิมย่อมถูกเพิกถอนไปในตัว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสามว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า นางพรพันธ์มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน นางพรพันธ์จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ สัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่าทำสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในการเช่า อันจะใช้ยันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ดังนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทำสัญญาเช่าโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ต่อไป โดยโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์แล้ว การที่จำเลยและบริวารยังอยู่ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่า การทำสัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความของนางพรพันธ์ถือว่ามีผลสมบูรณ์เสมือนดังว่านางพรพันธ์ได้รับแต่งตั้งโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1166 นั้น เห็นว่า การแต่งตั้งนางพรพันธ์เป็นกรรมการของโจทก์ เกิดจากการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารในคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดให้นางพรพันธ์เข้ามาเป็นกรรมการของโจทก์โดยมิชอบ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมถือว่าการแต่งตั้งนั้นไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด จึงมิใช่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของกรรมการตามมาตรา 1166 การกระทำของนางพรพันธ์จะถือว่าสมบูรณ์หาได้ไม่ และที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้ชำระค่าเช่าจำนวน 40,000,000 บาท และไม่ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินพิพาทรวม 140,000,000 บาท เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น เพราะโจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นเรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าและไม่ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องที่จำเลยชำระค่าเช่าและทำการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่าหรือไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ในคำให้การและทางนำสืบของจำเลยว่า ข้ออ้างของจำเลยรับฟังได้หรือไม่ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยสั่งเฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ แต่ไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ครบถ้วน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share