แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุว่าการว่ากล่าวตักเตือนเป็นโทษผิดวินัย จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนของจำเลยที่ 1 เป็นการลงโทษโจทก์ทั้งสอง และหากโจทก์ทั้งสองจะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะกระทำการดังถูกว่ากล่าวตักเตือนมาแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือที่ไม่ถูกต้อง การว่ากล่าวตักเตือนเช่นนี้จึงยังไม่โต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 2 ที่ 239/2556 เรื่องว่ากล่าวตักเตือนพนักงาน ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2556
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ ผู้อำนวยการเขตการเดินรถมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่ 212/2553 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตการเดินรถ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 2 โจทก์ทั้งสองขับรถยนต์โดยสารประจำทาง สาย 26 ขึ้นสะพานต่างระดับข้ามแยกกิโลเมตร 8 ถนนรามอินทรา อันเป็นการขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 2 ที่ 106/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและทางวินัยเป็นการถาวร และมีคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 2 ที่ 239/2556 ให้ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสอง แล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ทั้งสอง หามีผลเป็นการทำให้โจทก์เสียสิทธิ์แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิ์โจทก์ทั้งสอง อันจะทำให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลขอเพิกถอนคำสั่งได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้ยกเลิกคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 2 ที่ 239/2556 เรื่อง ว่ากล่าวตักเตือนพนักงานหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งทางวิทยุห้ามพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางนำรถยนต์โดยสารประจำทางขึ้นสะพานยกระดับข้ามแยกต่าง ๆ ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตหากตรวจพบหรือมีรายงานจะพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป และโทษตามข้อบังคับจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 46 ข้อ 7 ระบุว่า โทษผิดวินัยมี 5 สถาน คือ ไล่ออก ให้ออก ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน และภาคทัณฑ์ การว่ากล่าวตักเตือนมิได้มีระบุไว้ว่าเป็นโทษผิดวินัย จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนเป็นการลงโทษโจทก์ทั้งสอง และหากโจทก์ทั้งสองจะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะกระทำการดังถูกว่ากล่าวตักเตือนมาแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือที่ไม่ถูกต้อง การว่ากล่าวตักเตือนเช่นนี้จึงยังไม่โต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ยกเลิกคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 2 ที่ 239/2556 เรื่อง ว่ากล่าวตักเตือนพนักงาน ที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน