คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ธ. ผู้เยาว์เกิดจากโจทก์ซึ่งเป็นมารดาที่มิได้สมรสกับชาย และยังมิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นบิดา โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ธ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบิดาให้รับ ธ. เป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยได้ ไม่เป็นคดีอุทลุม การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลนั้น มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันคลอด และศาลไม่จำต้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรอีก เพราะผู้มีส่วนได้เสียยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว ให้บันทึกในทะเบียนได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล ผู้เยาว์ซึ่งเกิดจากจำเลย ทั้งนี้โดยจำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์ในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ กล่าวคือเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2525 จำเลยซึ่งมีฐานะเป็นอาจารย์ของโจทก์ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยข่มขู่หลอกลวงโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นอาจารย์ของโจทก์ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยข่มขู่หลอกลวงโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกศิษย์จนโจทก์ต้องยอมให้จำเลยกระทำชำเราหลายครั้ง จนโจทก์ตั้งครรภ์ และได้คลอดเด็กหญิงธิดาพร โจทก์ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่นนอกจากจำเลย เด็กหญิงธิดาพรจึงเป็นบุตรของจำเลย โจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยผัดผ่อนและหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธิดาพร ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตรของจำเลย หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธิดาพรนับแต่คลอดจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาเป็นการเวลา 25 ปี ในอัตราเดือนละ5,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นอาจารย์ของโจทก์ จำเลยไม่เคยข่มขืนกระทำชำเราหรือร่วมประเวณีกับโจทก์ เด็กหญิงธิดาพร คงนุกูลผู้เยาว์เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดจากชายอื่น มิใช่จำเลย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตรและชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธิดาพรให้แก่โจทก์ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์เรียกร้องมากเกินไป สมควรได้รับเพียงไม่เกินเดือนละ 750บาท จนกว่าเด็กหญิงธิดาพรจะบรรลุนิติภาวะเท่านั้น ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่หลอกลวงโจทก์อย่างไรจนโจทก์ยอมให้จำเลยกระทำชำเราและคำขอบังคับของโจทก์ไม่ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพร เป็นบุตร หรือจะให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูลเป็นบุตรจำเลย หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดุให้ผู้เยาว์ในอัตราเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ผู้เยาว์คลอด (วันที่ 12ตุลาคม 2528) จนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุครบ 5 ปี อัตราเดือนละ2,000 บาท นับแต่ผู้เยาว์อายุ 5 ปีขึ้นไปจนกว่าจะมีอายุครบ 5 ปีอัตราเดือนละ 2,000 บาท นับแต่ผู้เยาว์อายุ 5 ปีขึ้นไปจนกว่าจะอายุครบ 10 ปี อัตราเดือนละ 2,500 บาท นับแต่ผู้เยาว์มีอายุ 10 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 15 ปีบริบูรณ์ และอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่ผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อปี 2520 นางรัญวนา คงนุกูล โจทก์เข้าศึกษาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยเป็นอาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ให้บริการปรึกษาแก่นักศึกษา เมื่อต้นปี2524 โจทก์มีปัญหาเรื่องการศึกษาเนื่องจากสอบได้ไม่ครบตามหลักสูตรยังขาดอยู่อีก 1 วิชาและโจทก์ไม่มีเงินจะศึกษาต่อ จึงขอคำปรึกษาจากคณบดี คณบดีแนะนำให้โจทก์ไปพบจำเลย โจทก์จึงไปพบจำเลยที่ห้องทำงาน ผลที่สุดจำเลยรับจะช่วยเหลือให้โจทก์ทำงานอยู่ที่ห้องทำงานของจำเลยโดยช่วยจัดห้องทำงาน จัดเอกสารเข้าแฟ้มช่วยรับโทรศัพท์แต่ไม่ได้ทำทุกวัน จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้ครั้งละ100 บาท ถึง 200 บาท โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลยจนจบการศึกษา แต่ยัง2525 หรือ 2526 โจทก์ตั้งครรภ์ จำเลยได้พาโจทก์ไปทำแท้งที่คลินิกแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ครั้นต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์2528 โจทก์ตั้งครรภ์อีกครั้งและคลอดบุตรเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม2528 ชื่อเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล ปรากฏตามสูติบัตร เอกสารหมาย จ.โดยมิได้มีการสมรสกับชายและเด็กหญิงธิดาพรมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ขณะยื่นฟ้องเด็กหญิงธิดาพรอายุได้ 11 เดือนเศษมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่าตามคำฟ้องจำเลยไม่อาจรู้ได้ว่าโจทก์ฟ้องหรือผู้เยาว์เป็นผู้ฟ้อง ถ้าผู้เยาว์ฟ้องก็เป็นเรื่องที่ผู้เยาว์ฟ้องบิดา เป็นคดีอุทลุม ผู้เยาว์ไม่มีอำนาจฟ้อง หากโจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์มิได้ฟ้องแทนผู้เยาว์ โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1566 บัญญัติให้บุตรผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาและให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายและยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย โดยบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรและมาตรา 1556ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างเด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ขณะโจทก์ยื่นฟ้องเด็กหญิงธิดาพรผู้เยาว์อายุได้ 11 เดือนเศษโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอบและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรจึงมีอำนาจฟ้องแทนได้ และมาตรา 1515 บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วยว่านอกจากอัยการจะฟ้องร้องแทนแล้ว ให้บิดาหรือมารดานำคดีขึ้นว่ากล่าวได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งให้รับผู้เยาว์เป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าฟ้องคดีนี้ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ จึงชอบแล้ว และฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยรับผู้เยาว์เป็นบุตรไม่เป็นคดีอุทลุมเพราะเป็นการฟ้องตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้โดยเฉพาะ…
ปัญหาข้อที่ 3 ที่ว่า เด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล ผู้เยาว์เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดจากจำเลยหรือไม่… พิเคราะห์ถึงพฤติกรรมแล้วคำเบิกความของโจทก์มีเหตุผลน่าเชื่อ เพราะจำเลยเป็นอาจารย์และมีความรู้สูง โจทก์ตกอยู่ในภาวะต้องพึ่งจำเลย หากไม่ทำตามที่จำเลยต้องการอาจจะได้รับความเดือนร้อนยิ่งขึ้น และถ้าจะเป็นการช่วยเหลือโดยไม่มีแผนการซ่อนเร้นแล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์ตั้งครรภ์ไม่น่าจะนำมาเขียนไว้ให้เกิดความอับอายแก่ตนเอง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งจนโจทก์ตั้งครรภ์โดยโจทก์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชายอื่น ดังนั้นเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรที่เกิดจากจำเลย
สำหรับปัญหาสุดท้าย ผู้เยาว์ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงใด จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดสูงเกินไป ไม่ควรเกินเดือนละ 1,000 บาทนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์และมีรายได้อื่นอีก ส่วนโจทก์ยังไม่มีอาชีพและรายได้ ผู้เยาว์จะต้องศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้นตามวัย ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ตามวัยอายุของผู้เยาว์เหมาะสมดีแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนเห็นพ้องด้วยเว้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตั้งแต่วันคลอด (วันที่ 12 ตุลาคม 2528) นั้น ในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง เพราะการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลนั้น มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด สำหรับคดีนี้ให้เริ่มแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล เป็นบุตร หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้น เนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) จึงไม่จำต้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตร ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติว่าเมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และให้ยกคำขอในส่วนที่บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์.

Share