แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องส. ซึ่งทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทในคดีนี้จำนวน 200 ตารางวา ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ส.ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ 200 ตารางวากับจำเลย และพิพากษาให้โจทก์คดีนี้ในฐานะทายาทของส.โอนที่ดินพิพาทโดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ ให้แก่จำเลย คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของส.ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว ดังนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้ และคดีก่อนจึงมีมูลจากสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ฉบับเดียวกัน เพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างในคดีก่อนว่า ส. ไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยเท่านั้น หาได้ต่อสู้ ว่าเงินมัดจำ 20,000 บาท ตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงินยืมไม่ ทั้ง ๆ ที่โจทก์อาจกล่าวอ้างในคดีก่อนได้ ฉะนั้น แม้คดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเงินจำนวน 20,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นเงินยืม แต่จำเลยให้ส.ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทไว้แทนสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งดูประหนึ่งว่าจะมิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีก่อนดังโจทก์อ้างก็ตามแต่ตาม เนื้อหาแห่งฎีกาโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์โต้เถียงว่า โจทก์ไม่จำต้อง ผูกพันตามสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทเพราะส.ไม่ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย คดีทั้งสองจึงมีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าส.ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของตนจำนวน 200 ตารางวา ให้แก่จำเลยคดีนี้หรือไม่ นั่นเอง ซึ่งศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วว่า ส. ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของตนจำนวน 200 ตารางวา ให้แก่จำเลยจริง เท่ากับฟังว่าเงิน 20,000 บาท เป็นเงินมัดจำ คำพิพากษาในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์คดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดแล้วโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยอีก ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการ รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกสมพงษ์ กลับศรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 จ่าสิบเอกสมพงษ์กู้ยืมเงินจากจำเลย 20,000 บาท โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 1877 ตำบลสายไหม อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นประกันจำเลยให้จ่าสิบเอกสมพงษ์ ลงชื่อในสัญญาจะซื้อขาย เมื่อจ่าสิบเอกสมพงษ์ชำระหนี้เสร็จแล้วจำเลยจึงยกเลิกสัญญาต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2533 จ่าสิบเอกสมพงษ์กู้ยืมเงินจากจำเลยอีก 20,000 บาท โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ข้างต้นเป็นประกัน จำเลยให้จ่าสิบเอกสมพงษ์ลงชื่อทำสัญญากู้ในแบบของสัญญาจะซื้อขาย สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จ่าสิบเอกสมพงษ์ จะขายที่ดินแปลงเดียวกันในเวลาเดียวกันให้อีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีราคาแตกต่างกันมาก กับจำเลยไม่กำหนดตำแหน่งทิศทางของที่ดินไว้ในสัญญา ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางเงินมัดจำฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 ระหว่าง จ่าสิบเอกสมพงษ์ กลับศรี ผู้จะขาย จำเลยผู้จะซื้อ กับให้จำเลยรับชำระหนี้ในต้นเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 จนถึงวันฟ้อง
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 จ่าสิบเอกสมพงษ์ กลับศรี ไม่ได้กู้เงินจำนวน 20,000 บาท จากจำเลยกับไม่ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 1877 ตำบลสายไหม อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นประกันและจำเลยไม่เคยใช้จ่าสิบเอกสมพงษ์ลงชื่อไว้ในสัญญาจะซื้อขายแทนสัญญากู้ยืมเงิน แต่ในวันดังกล่าว จ่าสิบเอกสมพงษ์ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ข้างต้นในส่วนที่ตน มีกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 250,000 บาท จึงตกลงทำสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2533จ่าสิบเอกสมพงษ์ไม่ได้กู้ยืมเงินจำเลยจำนวน 20,000 บาท กับไม่ได้นำที่ดินโฉนดเลขข้างต้นเป็นประกัน จำเลยไม่เคยให้จ่าสิบเอกสมพงษ์ลงชื่อไว้ในสัญญาจะซื้อขายแทนหรืออำพรางสัญญากู้ยืมเงินแต่ในวันดังกล่าวจ่าสิบเอกสมพงษ์กับจำเลย ตกลงยกเลิกสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 โดยทำสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 แทนเพื่อขยายกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาฉบับเดิมไปอีก ไม่ใช่เพราะว่าจ่าสิบเอกสมพงษ์นำเงินกู้ยืมมาชำระให้แก่จำเลย จำเลยเคยฟ้องโจทก์ในฐานะทายาทของจ่าสิบเอกสมพงษ์ ขอให้โจทก์โอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 ให้แก่จำเลยและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 168131 ตำบลสายไหม ให้แก่จำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1006/2537 ของศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1006/2537 ของศาลชั้นต้นจำเลยยื่นฟ้องโจทก์ในฐานะทายาทของจ่าสิบเอกสมพงษ์ กลับศรี ผู้ตายให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผู้ตายแบ่งขายให้แก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 คดีถึงที่สุดคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกสมพงษ์กลับมาฟ้องจำเลยว่าสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2533 ระหว่างจ่าสิบเอกสมพงษ์ กลับศรี ผู้จะขาย จำเลยผู้จะซื้อ ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1006/2537 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องว่า จ่าสิบเอกสมพงษ์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของตนคือที่ดินพิพาทในคดีนี้จำนวน 200 ตารางวา ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจ่าสิบเอกสมพงษ์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ 200 ตารางวา กับจำเลย และพิพากษาให้โจทก์คดีนี้ในฐานะทายาทของจ่าสิบเอกสมพงษ์โอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 200 ตารางวา โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ ให้แก่จำเลย คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกสมพงษ์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนว่าสัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำดังกล่าวดังนี้ฟ้องโจทก์คดีนี้และคดีก่อนจึงมีมูลจากสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำฉบับเดียวกัน เพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างในคดีก่อนว่า จ่าสิบเอกสมพงษ์ไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยเท่านั้น แต่หาได้ต่อสู้ว่าเงินมัดจำ 20,000 บาท ตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงินยืมไม่ทั้ง ๆ ที่โจทก์อาจกล่าวอ้างในคดีก่อนได้ ฉะนั้นแม้คดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเงินจำนวน 20,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นเงินยืมแต่จำเลยให้จ่าสิบเอกสมพงษ์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทไว้แทนสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งดูประหนึ่งว่าจะมิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีก่อนดังโจทก์อ้างก็ตาม แต่ตามเนื้อหาแห่งคดีที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับเงิน 20,000 บาท และเนื้อหาแห่งฎีกาโจทก์โต้เถียงว่า โจทก์ไม่จำต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะจ่าสิบเอกสมพงษ์ไม่ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย คดีทั้งสองจึงมีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าจ่าสิบเอกสมพงษ์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของตนจำนวน 200 ตารางวา ให้แก่จำเลยคดีนี้หรือไม่นั่นเอง ซึ่งศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วว่าจ่าสิบเอกสมพงษ์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของตนจำนวน 200 ตารางวา ให้แก่จำเลยจริง เท่ากับฟังว่าเงิน 20,000 บาท เป็นเงินมัดจำ คำพิพากษาในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์คดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดแล้วโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยอีก ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน