คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5013/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีต่อจำเลยแทนโจทก์โดยปิดอากรแสตมป์มาครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในลักษณะแห่งตราสาร 7 ตามประมวลรัษฎากร แต่มิได้มี การขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว ย่อมถือว่ายังไม่ปิดแสตมป์ บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 และห้ามมิให้รับฟัง ตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งจนกว่าจะได้ขีดฆ่า อากรแสตมป์แล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าโจทก์มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ การที่ได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาลแล้ว หามีผลเหมือนกับการขีดฆ่าอากรแสตมป์ เพราะไม่ต้องด้วยความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 103 กรณีมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งห้ามมิให้รับฟังตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง อีกทั้งเป็นเรื่องของการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแม้โจทก์จะมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยง หรือกรณีเกิดขึ้นเนื่องจากความพลั้งเผลอ ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุอ้างให้ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ และแม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งเรื่องการขีดฆ่าอากรแสตมป์ไว้ในคำให้การหรือคัดค้านกรณีดังกล่าวในระหว่างพิจารณา แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้เรื่องหนังสือมอบอำนาจไว้แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งศาล จะต้องอาศัยการรับฟังเอกสารใบมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานและในเรื่องตราสารที่มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์นี้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าว ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เพราะเป็นปัญหาว่ากฎหมายห้ามรับฟังหรือไม่ อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาขออนุญาตนำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ไปขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคดีของโจทก์โดยปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้วกรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการดังกล่าว ศาลฎีกาย่อมไม่อนุญาตตามคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดโจทก์มอบอำนาจให้นางบัวรส แกล้ววิกย์กรรมเป็นผู้ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2539 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้รักษาพยาบาลนายมงคล สุจิมหันต์ซึ่งได้รับบาดเจ็บอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โจทก์ได้ทำการรักษาพยาบาลนายมงคลด้วยการผ่าตัดหลายครั้ง จำเลยค้างชำระค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 213,794 บาทโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน219,138 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน213,794 บาท นัดถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้นางบัวรส แกล้ววิกย์กรรม ดำเนินคดีแทนไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีตราประทับของโจทก์ประทับลงไว้ตามที่จดทะเบียนไว้จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ที่มีข้อความระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางบัวรส แกล้ววิกย์กรรม ดำเนินคดีแทนโจทก์ ซึ่งมีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน แต่มิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางบัวรสดำเนินคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นหนังสือมอบอำนาจให้นางบัวรสดำเนินคดีต่อจำเลยแทนโจทก์โดยปิดอากรแสตมป์มา ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในลักษณะแห่งตราสาร 7 แต่มิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าว ซึ่งการที่ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น ย่อมถือว่ายังไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 118 ซึ่งห้ามมิให้รับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งจนกว่าจะได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางบัวรสดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2532 ระหว่าง นายสุว้า แซ่โซ่ โจทก์นายกล่อม กำลังเกื้อ กับพวก จำเลยที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหรืออำนาจที่จะนำอากรแสตมป์นั้นกลับมาใช้ได้อีกเพราะได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาลแล้ว จึงมีผลเหมือนกับการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจเอาเอง หาต้องด้วยความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 103 แต่อย่างใดไม่ และตามข้อเท็จจริงอากรแสตมป์ที่ยังมิได้ขีดฆ่ายังอาจนำไปใช้กับเอกสารหรือตราสารอื่น ๆ ได้เสมอจึงหาเป็นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ และที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีที่หนังสือมอบอำนาจบกพร่อง เช่น ไม่ได้ประทับตราของผู้มอบอำนาจ หรือผู้แทนนิติบุคคลลงลายมือชื่อไม่ครบตามที่จดทะเบียนไว้ หรือการแต่งตั้งทนายความบกพร่อง เช่น มิได้ยื่นใบแต่งทนายโดยความพลั้งเผลอ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจที่จะให้แก้ไขให้ถูกต้องได้ ในกรณีของโจทก์นี้ ที่มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เพราะความพลั้งเผลอ จำเลยก็มิได้โต้แย้งไว้ในคำให้การหรือคัดค้านไว้ในระหว่างพิจารณา โจทก์จึงควรได้รับอนุญาตให้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องให้บริบูรณ์นั้น เห็นว่ากรณีที่มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์นี้ กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งห้ามมิให้รับฟังตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง อีกทั้งเป็นเรื่องของการรับฟังพยานหลักฐานในคดี แตกต่างจากกรณีที่โจทก์ยกขึ้นอ้างซึ่งเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 และบางเรื่องก็เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่บกพร่องหรือผิดระเบียบซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 และแม้โจทก์จะมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยง กรณีเกิดขึ้นเนื่องจากความพลั้งเผลอ ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุอ้างให้ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ และแม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งเรื่องการขีดฆ่าอากรแสตมป์ไว้ในคำให้การ หรือคัดค้านกรณีดังกล่าวในระหว่างพิจารณา แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้เรื่องหนังสือมอบอำนาจไว้แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งศาลจะต้องอาศัยการรับฟังเอกสารใบมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐาน และในเรื่องตราสารที่มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์นี้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เพราะเป็นปัญหาว่ากฎหมายห้ามรับฟังหรือไม่ อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนส่วนที่โจทก์ขออนุญาตนำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ไปขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น ก็ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคดีของโจทก์โดยปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share