คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับถนนทั้ง 6 สาย ในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ว่าไม่ใช่ทางสาธารณะ ถนนทั้ง 6 สายยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจจัดการใช้สอยดำเนินการเกี่ยวกับถนนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แม้ถนนทั้ง 6 สายจะเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติฯ ข้อ 30 วรรคหนึ่ง แต่เสียงส่วนใหญ่ในการประชุมผู้อยู่อาศัยในศูนย์การค้าตกลงให้จำเลยที่ 1 จัดการจราจรในศูนย์การค้า หลังจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างป้อมยามและเหล็กกั้นทางเข้าออกโดยมีพนักงานเก็บเงินค่าจอดรถแล้ว จำเลยที่ 1 แจกสติ๊กเกอร์สำหรับติดรถยนต์และรถจักรยานยนต์แก่เจ้าของอาคารพาณิชย์ทุกคูหาสติ๊กเกอร์ดังกล่าวสามารถใช้เข้าออกได้ทุกทางตลอดเวลาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียเงินค่าจอดรถแต่ประการใด และแม้ประกาศของคณะปฏิวัติฯ ข้อ 30 วรรคหนึ่ง จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 จะหารายได้จากสาธารณูปโภคดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่ได้ เพียงแต่ต้องไม่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก นับได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้ใช้ภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินทุกแปลงในศูนย์การค้าเท่าที่จำเป็นตามสมควรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และไม่ทำให้การใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
โจทก์นำแผงเหล็กปิดกั้นบนถนนหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์หรือบางรายจอดรถจักรยานยนต์หรือวางวัสดุบนทางเท้านั้น เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มเติมแก่ภารยทรัพย์โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 และมาตรา 1389 จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามได้ และการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่จอดรถตามที่ประกาศโฆษณาไว้ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจกระทำการดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งยี่สิบแปดฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาให้ถนนที่จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างเป็นสาธารณูปโภคทั้ง 6 สายเป็นทางภารจำยอม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนภารจำยอมถนนสาธารณะตลอดไป หรือให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองเปิดทางภารจำยอมและรื้อถอนป้อมยามพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดขวางออกไปจากทางภารจำยอมโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง อีกทั้งห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารกระทำการใด ๆ แก่ทางภารจำยอม

ก่อนจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ โจทก์ที่ 17 และที่ 18 ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้พิพากษาห้ามไม่ให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกและบริวารนำรถไปจอดบนทางเท้าในบริเวณศูนย์การค้าและมิให้นำแผงกั้นหรือวัสดุใด ๆ ไปวางบนถนนและทางเท้า และมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางการใช้ถนนและทางเท้า

หลังจากจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ที่ 20 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 ที่ 19 และที่ 21 ถึงที่ 28 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ทางเท้า ในบริเวณศูนย์การค้าผู้อยู่อาศัยและบริวารใช้ประโยชน์เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว การที่โจทก์นำแผงกั้นหรือวัสดุต่าง ๆ มาวางบนถนนและทางเท้านั้นเป็นไปตามข้อตกลงของจำเลยทั้งสอง เพราะสถานที่จอดรถที่จำเลยทั้งสองจะจัดให้นั้นจำเลยทั้งสองได้นำไปให้บุคคลอื่นเช่าประกอบการค้า โจทก์ทั้งยี่สิบห้ากับผู้อยู่อาศัยอื่นไม่เคยตกลงให้จำเลยทั้งสองก่อสร้างป้อมยามและเหล็กกั้นปิดเปิดบริเวณทางเข้าออกของถนนทั้ง 6 สาย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบห้าเพราะถนนพิพาทเป็นทางภารจำยอม

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ถนนกับทางเท้าพิพาทในศูนย์การค้าประตูน้ำหรือศูนย์การค้าเมโทรตกอยู่ในภารจำยอม ห้ามโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 ที่ 19 และที่ 21 ถึงที่ 28 นำยานพาหนะหรือวัสดุอื่นใดไปจอดหรือวางบนทางเท้า และห้ามโจทก์ทั้งหมดนำแผงกั้นหรือวัสดุสิ่งของอื่น ๆ ไปวางบนถนนพิพาททั้งหกสายอันเป็นการกีดขวางการจราจรอีกต่อไป คำขออื่น ๆ นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 ที่ 19 และที่ 21 ถึงที่ 28 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 ที่ 19 และที่ 21 ถึงที่ 28 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์ทั้งยี่สิบห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าประตูน้ำหรือศูนย์การค้าเมโทรซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรขายเมื่อปี 2524 ภายในศูนย์การค้าเมโทรมีถนนรวม 6 สาย ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น และเป็นภารจำยอมเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างป้อมยามและเหล็กกั้นทางเข้าออกทั้งหมดรวม5 จุด รถของบุคคลภายนอกที่จะผ่านเข้าออกจะต้องรับบัตรจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และจะต้องเสียเงินค่าจอดรถตามระยะเวลาที่จอดคิดเป็นชั่วโมงปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งยี่สิบห้ามีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบห้า และเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกอันเป็นการขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นหรือไม่ และการที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าวางแผงเหล็กกั้นบนถนน จอดรถจักรยานยนต์หรือวางวัสดุบนทางเท้าในศูนย์การค้าเมโทร ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2534 คดีระหว่างบริษัทสินพรชัย จำกัด โจทก์ บริษัทบางกอกฮิลตันโฮเต็ล จำกัด จำเลย ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับถนนทั้ง 6 สายในศูนย์การค้าเมโทรของจำเลยที่ 1 ว่าไม่ใช่ทางสาธารณะ ฉะนั้น ถนนทั้ง 6 สายยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจจัดการใช้สอยดำเนินการเกี่ยวกับถนนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แม้ถนนทั้ง 6 สายจะเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าเสียงส่วนใหญ่ในการประชุมผู้อยู่อาศัยในศูนย์การค้าเมโทรตกลงให้จำเลยที่ 1 จัดการจราจรในศูนย์การค้าเมโทร หลังจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างป้อมยามและเหล็กกั้นทางเข้าออก โดยมีพนักงานเก็บเงินค่าจอดรถแล้วจำเลยที่ 1 แจกสติ๊กเกอร์สำหรับติดรถยนต์และรถจักรยานยนต์แก่เจ้าของอาคารพาณิชย์ทุกคูหา สติ๊กเกอร์ดังกล่าวสามารถใช้เข้าออกได้ทุกทางตลอดเวลาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียเงินค่าจอดรถแต่ประการใด ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายสุพัฒน์ สุธาชีวะ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 21 ถึงที่ 26 และจากคำเบิกความของนางสาวเรืองวิไล สวามิวัสดุ์ พยานโจทก์ทั้งยี่สิบห้าเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ให้ผู้ที่จะขับรถเข้าไปในศูนย์การค้าเมโทรรับบัตรและเมื่อจะออกต้องคืนบัตรเพื่อป้องกันการโจรกรรมรถ ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวไม่ปรากฏว่ารถในศูนย์การค้าเมโทรสูญหาย และจำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงระบบไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ และถนนที่ชำรุดในศูนย์การค้าเมโทรด้วย หลังจากจำเลยที่ 1 จัดระบบการจราจรทำให้การจราจรในศูนย์การค้าเมโทรคล่องตัวขึ้นเนื่องจากไม่มีบุคคลภายนอกนำรถเข้าไปจอดไว้อีก จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและเพื่อความสะดวกของการจราจรในศูนย์การค้าเมโทร ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรที่ดินจึงมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพเดิม โดยจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเก็บเงินค่าจอดรถนั้น เห็นว่า แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่งจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไปแต่ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 จะหารายได้จากสาธารณูปโภคดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามิได้ เพียงแต่ต้องไม่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ส่วนโจทก์ทั้งยี่สิบห้าผู้ใช้ภารจำยอมก็ต้องใช้เท่าที่จำเป็นตามสมควรมิใช่ใช้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จัดสติ๊กเกอร์ให้แก่ผู้อยู่อาศัยในศูนย์การค้าเมโทรสำหรับติดรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อนำรถเข้าไปจอดหรือเข้าออกในศูนย์การค้าเมโทรได้ทุกทางตลอดเวลาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียเงินค่าจอดรถนั้น นับได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้ใช้ภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินทุกแปลงในศูนย์การค้าเมโทรเท่าที่จำเป็นตามสมควรแล้ว แต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 13 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า โจทก์ที่ 13 ซื้ออาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าเมโทร 3 คูหา มีรถยนต์ 6 คัน แต่จำเป็นต้องใช้รถยนต์บรรทุกในกิจการค้าประมาณ 30 คัน หากรับสติ๊กเกอร์จะไม่เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ที่ต้องนำเข้าไปในศูนย์การค้าเมโทร และได้ความจากคำเบิกความของนายบุญชู ตระกูลวิวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 27 และที่ 28 เบิกความตอบทนายโจทก์ที่ 19 และที่ 21 ถึงที่28 กับเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า โจทก์ที่ 27 ซื้ออาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าเมโทร 1 คูหา แต่มีรถยนต์ 6 คัน โจทก์ที่ 27 จึงไม่ยอมรับสติ๊กเกอร์ที่จำเลยที่ 1 จัดให้ 2 ใบ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งยี่สิบห้าประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ไม่เรียกเก็บเงินค่าจอดรถสำหรับรถทุกคันของโจทก์ทั้งยี่สิบห้า แม้จะมีรถจำนวนมากเท่าใดก็ตาม อันเป็นการใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอมเกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบห้า และไม่ทำให้การใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกตามที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าฎีกา

ส่วนการที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้านำแผงเหล็กปิดกั้นบนถนนหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งยี่สิบหรือบางรายจอดรถจักรยานยนต์หรือวางวัสดุบนทางเท้านั้น เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ โจทก์ทั้งยี่สิบห้าไม่มีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 และมาตรา 1389 จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามได้ ที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่จอดรถตามที่ประกาศโฆษณาไว้นั้น ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งยี่สิบห้ามีอำนาจกระทำการดังกล่าวไม่ และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบห้าเพราะเป็นการกระทำโดยชอบ ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าฎีกาว่าต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบห้าจึงไม่ต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งยี่สิบห้าฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share